xs
xsm
sm
md
lg

ป่วนแน่! ค่าแรง 300 บาททำธุรกิจห้องแถว-เถ้าแก่พิจิตรตัดสวัสดิการเหี้ยน-จ้างเหมาแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - นโยบายค่าแรง 300 บาทต่อวันทำธุรกิจห้องแถว กิจการครอบครัวเก่าแก่เมืองพิจิตรกระอักกันระนาว กระทบเศรษฐกิจฐานราก ฟันธงทำวิถีนายจ้าง-ลูกจ้างที่อยู่กันแบบครอบครัวมาหลายชั่วอายุคนสิ้นสุด นายจ้างหลายรายเลือกตัดสวัสดิการที่เคยให้หมด บางรายใช้วิธีจ้างเหมาตามหน้างานแทน หลัง “รับไม่ได้” กับนโยบายรัฐ

วันนี้ (3 ม.ค.) นายสุธนต์ เทียนเฮง ประธานหอการค้าจังหวัดพิจิตร เจ้าของธุรกิจร้านสุธนการแว่น ถนนศรีมาลา อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ให้สัมภาษณ์ถึงผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ให้ปรับค่าแรงงานขั้นต่ำให้ลูกจ้างเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ โดยไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ใช้ฝีมือแรงงาน หรือมาตรฐานขั้นต่ำ ตลอดจนอายุงานเข้าใหม่วันแรกก็จะเอาค่าแรง 300 บาท คนงานเก่าที่ทำงานมา 2-3 ปีเคยได้ค่าแรง 250-270 บาทก็ขอปรับเป็น 300 บาท/วัน กลุ่มนี้ไม่น่าแปลก

นายสุธนต์กล่าวว่า ที่จริงเขาไม่กลัวค่าแรง 300 บาท แต่กลัวจ่ายค่าแรงแล้วได้คุณภาพงานที่ไม่คุ้มกับค่าจ้าง แถมกลัวได้แรงงานที่ไม่มีคุณภาพ แค่เด็กฝึกหัดฝึกงานก็จะเอา 300 บาท ไม่ฟังเหตุผล อ้างอย่างเดียวต้องได้ค่าแรงตามกฎหมายนโยบายของรัฐบาล จึงทำให้ขณะนี้ธุรกิจรายย่อยต้องเดือดร้อนกันถ้วนหน้า และจัดเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ว่าจะอยู่หรือจะไป หรือจะลดขนาดธุรกิจลงและทำกันเฉพาะในครอบครัว พ่อ-แม่-ลูกเท่านั้น

เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคือ นายจ้างที่เป็นเจ้าของธุรกิจระบบครอบครัวหรือธุรกิจของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ทำมาค้าขายมีร้านค้า มีลูกจ้าง 3-5 คน กระจัดกระจายไปตามชุมชนนับหมื่นร้านค้า กลุ่มนี้กลับได้รับผลกระทบมาก ลูกจ้างต่างออกมาเรียกร้องค่าแรงขอ 300 บาท เมื่อเถ้าแก่ให้ไม่ได้โรงงานอุตสาหกรรมที่บริหารแบบตะวันตก คือนายทุนเป็นฝรั่งหรือญี่ปุ่น มีระบบงาน ผู้จัดการฝ่ายบุคคล ผู้จัดการฝ่ายการผลิต ผู้จัดการฝ่ายส่งออก เข้างาน-ออกงาน ตอกบัตรเป็นเวลา มีสวัสดิการคุ้มครองแรงงานก็มาดึงคนงานตามส่วนภูมิภาคหรือธุรกิจตึกแถวที่ถือเป็นฐานเศรษฐกิจของชุมชนไปจนหมดสิ้น
 
สุดท้ายธุรกิจตึกแถวก็ไปหาว่าจ้างแรงงานต่างชาติ ลาว เขมร พม่า ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายมาเป็นลูกจ้าง แถมต้องมาฝึกภาษา มาตรวจสุขภาพ มาฝึกงาน พอพูดไทยได้มีบัตรต่างด้าว นายหน้าก็มาชักชวนหนีเข้ากรุงเทพฯ ไปอยู่โรงงานได้ค่าแรง 300 บาทอีก

ซึ่งขณะนี้เถ้าแก่บางคน เช่น ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายมอเตอร์ไซค์ โชว์รูมรถ ร้านอาหาร ยอมจ่าย 300 บาทแต่ลดคนงาน วางระเบียบเพิ่มงานมากขึ้น ไม่เลี้ยงข้าว ไม่มีสวัสดิการที่พัก หรือถ้าให้ที่พักอยู่ด้วยก็เอามาตีราคา 1,500-2,000 บาทหักสิ้นเดือน จึงทำให้วิถีชีวิต นายจ้าง-ลูกจ้าง ที่อยู่กันแบบพี่แบบน้อง แบบครอบครัว เถ้าแก่กับลูกจ้างกินข้าวหม้อเดียวกันหายไปจากวิถีชีวิตร้านค้าตึกแถวของคนชนบท

ด้านนางวนิดา นิลพงษ์ นายกสมาคมการท่องเที่ยวจังหวัดพิจิตร เจ้าของธุรกิจโรงแรมโอฆะนคร ถนนศรีมาลา อ.เมือง จ.พิจิตร ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว ดำเนินกิจการมา 2 ช่วงอายุคน ปัจจุบันนางวนิดาถือเป็นรุ่นที่ 2 ที่บริหารจัดการแบบระบบครอบครัว มีบ้านพักห้องแถวให้พนักงานอยู่ฟรี มีครัวหุงข้าวให้กิน มีพนักงานประมาณ 40-60 คน ในโรงแรมมีสถานบันเทิงเล็กๆ ครบวงจร กล่าวว่า รับไม่ได้ ตั้งตัวไม่ทันสุดๆ เพราะคนคิดไม่เคยถามคนทำ คนจ่ายเงินเดือนลูกจ้างเลยว่าจะทำได้หรือเปล่า

นางวนิดาบอกว่า พิจิตรเป็นเมืองการเกษตร การท่องเที่ยวไม่เจริญเติบโตเหมือนเมืองอื่นๆ ทำโรงแรมอยู่ได้เพราะบรรพบุรุษได้วางรากฐานไว้ให้ก็ทำสืบต่อกันมา ราคาห้องพักเมื่อสิบกว่าปีก่อน 220-250 บาท ผ่านมาเกือบ 20 ปีขึ้นค่าห้องพักทุกวันนี้ได้แค่ 350 บาท/คืน แถมมีคู่แข่งบ้านพักรายวันผุดขึ้นมาอย่างกับดอกเห็ด มีกฎหมาย กฎระเบียบที่ยิบย่อยมาให้เสียเงินมากมาย ทั้งค่าวิศวกรมาตรวจโรงแรม ค่าทำประกันอัคคีภัย และอะไรต่ออะไรอีกมากมาย ยิ่งตอนนี้มาเจอค่าแรง 300 บาท ปวดหัวจนนอนไม่หลับ

สุดท้ายก็ต้องใช้วิธีเจรจาบอกทุกข์-สุข เล่าความจริงถึงธุรกิจว่าเราจะยังคงอยู่ร่วมกันได้โดยใช้วิธีพบกันครึ่งทาง จึงปรับเปลี่ยนมาเป็นค่าแรงเหมาจ้างทำตามข้อตกลง คือมีงานมากก็ได้เพิ่ม มีแขกเข้าพักน้อยก็มีรายได้ตามการตกลง
กำลังโหลดความคิดเห็น