ASTVผู้จัดการออนไลน์ - พิษค่าแรง 300 บาทที่ดันต้นทุนพุ่งถึง 60% กระเทือนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 2.9 ล้านราย คาดทยอยปิดกิจการอย่างน้อย 2 แสนบริษัท แรงงานถูกเลิกจ้างกว่า 5 แสนเป็นอย่างต่ำ เศรษฐกิจป่วนกระทบเป็นลูกโซ่ ขณะที่มาตรการเยียวยาผลกระทบยังมืดมน
แม้หลายสำนักจะฟันธงว่าอัตราการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจปี 2556 จะอยู่ในระดับ 4.5-5% ด้วยแรงกระตุ้นจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โครงการบริหารจัดการน้ำ และการอัดฉีดเม็ดเงินในสารพัดนโยบายประชานิยม แต่อีกด้านหนึ่งของนโยบายประชานิยมได้ก่อผลกระทบหรือปัจจัยเสี่ยงตามมา โดยเฉพาะเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศในเดือนมกราคม 2556 ซึ่งแบงก์ชาติคาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงกว่ารอบแรกที่ปรับขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2555
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ประเมินว่า การปรับค่าแรงรอบแรกทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มร้อยละ 40 และการปรับเพิ่มในเดือนมกราคม ปี 2556 ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 22 นั่นคือต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 60% ในช่วง 2 ปี ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ธุรกิจขนาดและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่มีอยู่เกือบ 2.9 ล้านราย หากผู้ประกอบการไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ จะทำให้เกิดการเลิกจ้างจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีทยอยปิดตัวลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเป็นลูกโซ่
ประมาณว่า หากธุรกิจเลิกกิจการประมาณ 10% หรือ 2 แสนบริษัท อาจทำให้เกิดการว่างงานสูงถึง 4-5 แสนราย หรืออาจถึงล้านคน เพราะธุรกิจเคยแบกรับค่าแรงเพียงประมาณ 150-180 บาทต่อวัน ส่วนผลที่จะตามมาในระยะต่อไปก็คือ การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงถูกกว่า
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นถึง 22.4% จากปี 2555 ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับปรับขึ้นค่าจ้างในอดีตที่เฉลี่ยเพียง 2.5% เท่านั้น
เช่นเดียวกับ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่า ผลจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทจะฉุดให้เศรษฐกิจประเทศหรือจีดีพีมีโอกาสลดลงกว่า 2% เช่นเดิมสมมติว่าเศรษฐกิจควรโตประมาณ 5 % ก็อาจโตช้าลงกว่า เพราะผลการขึ้นค่าจ้างแรงงานมีผลกระทบมากพอสมควร
อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับประสิทธิภาพแรงงาน และทยอยปรับก็อาจส่งผลกระทบไม่มาก เพราะในบางจังหวัดการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันนั้นหมายถึงต้นทุนปรับเพิ่มกว่า 35% ซึ่งแม้ว่าทางสถาบันฯ จะเห็นด้วยว่าการปรับขึ้นค่าแรงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน แต่ต้องไม่เป็นการขึ้นแบบก้าวกระโดดและอัตราเดียวกันทั้งประเทศ เพราะอุปสงค์และอุปทานของแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน
ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ หัวข้อ “อุตสาหกรรมไทยจะแข่งขันอย่างไรภายใต้ค่าแรงที่สูงขึ้น” ยังระบุว่า หากรัฐบาลเร่งปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 300 บาทอย่างรวดเร็ว และไม่เป็นระบบ อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้า การแข่งขันของภาคเอกชนในประเทศ ส่งผลต่อการเลิกจ้างงานในแรงงานระดับล่าง จนถึงการลงทุนและกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจในที่สุด ค่าแรงที่สูงขึ้นจะกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นต้องประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยางและเม็ดพลาสติก และก่อสร้าง
ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินในทิศทางเดียวกันว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบหนักจากการปรับค่าแรง 300 บาท โดยเฉพาะธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่ม ซึ่งใช้แรงงานจำนวนมาก โดยเฉลี่ยแล้วต้นทุนในภาคการผลิตและการบริการของเอสเอ็มอีจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12-13 และคาดว่าจะทำให้ภาคบริการขาดแคลนแรงงานถึงร้อยละ 15 เนื่องจากจะมีการเลือกงานมากขึ้น
ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศจะสำแดงฤทธิ์เดชในไตรมาสแรกของปี 2556 นี้ ก็ต้องลุ้นกันว่าจะลามกระทบต่อผู้ประกอบการ แรงงาน เมื่อเจ๊ง เลิกจ้าง กระทบภาคการผลิต ส่งออก และภาพรวมเศรษฐกิจ เป็นลูกโซ่หนักหน่วงขนาดไหน
ขณะที่นโยบายช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการที่จะได้รับกระทบกลับยังมืดมน นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า การที่รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เอสเอ็มอี เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือได้มากที่สุด เพราะค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นเป็นวันละ 300 บาทมีผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการมาก แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ก็อาจมีผลทำให้ปิดกิจการประมาณ 1 ล้านราย และทำให้เอสเอ็มอีที่ได้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำตามมาตรการต่างๆ วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทของรัฐก่อนหน้านี้กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งจะกระเทือนถึงภาระของรัฐบาลอีกระลอก
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมานั้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางถึงขนาดเล็ก โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งจะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจากนี้ไปนายจ้าง หรือผู้ประกอบการจะมีการหลบเลี่ยงที่จะไม่จ่ายค่าจ้างตามที่กฎหมายกำหนด หรือถ้าจ่ายก็จะนำค่าอาหาร หรือสวัสดิการต่างๆ เข้ามาเพิ่มในค่าจ้าง เพื่อจะจ่ายให้แรงงานในอัตราเท่าเดิมที่เคยจ่ายให้เพื่อความอยู่รอดของบริษัท โดยที่ลูกจ้างอาจจะต้องจำใจเพราะไม่มีทางเลือก
นอกจากนี้ เมื่อค่าจ้างปรับขึ้นแล้ว สิ่งที่ต้องจับตาตามมา คือการปรับขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ รวมถึงเรื่องเงินเฟ้อ