xs
xsm
sm
md
lg

จับตาประชานิยมพาเศรษฐกิจชาติหายนะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้หลายสำนักจะฟันธงว่าอัตราการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจปี 2556 จะอยู่ในระดับ 4.5-5% ด้วยแรงกระตุ้นจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โครงการบริหารจัดการน้ำ และการอัดฉีดเม็ดเงินในสารพัดนโยบายประชานิยม แต่อีกด้านหนึ่งได้ก่อผลกระทบหรือปัจจัยเสี่ยงตามมา ขณะที่ภาคการส่งออกยังชะลอตัวเพราะเศรษฐกิจโลกซบเซา คู่ค้าสำคัญทั้งสหรัฐฯ กลุ่มสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ยังไม่พ้นภาวะวิกฤต มีเพียงจีนที่น่าจะฟื้นตัวได้

ปัจจัยที่เป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เศรษฐกิจโลกและการส่งออกยังอ่อนแอ จึงขึ้นอยู่กับการลงทุนภาครัฐ การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นสำคัญ

แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐที่แบงก์ชาติคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศได้กลายเป็นความเสี่ยงทางตรง เพราะการเบิกจ่ายมีความล่าช้ามาก โดยเฉพาะการใช้เงินใน พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำมูลค่า 350,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเบิกใช้ประมาณ 25,000 ล้านบาทในปี 2555 กลับเบิกใช้จริงเพียง 7,500 ล้านบาทเท่านั้น จึงปรับลดเกณฑ์เบิกจ่ายในโครงการนี้ในปี 2556 เหลือเพียง 60,000 ล้านบาท จากเดิมตั้งเป้า 175,000 ล้านบาท

ปัจจัยเสี่ยงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทในเดือน ม.ค. 2556 ซึ่งแบงก์ชาติคาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงกว่ารอบแรกที่ปรับขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. 2555

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ประเมินว่า การปรับค่าแรงรอบแรกทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มร้อยละ 40 และการปรับเพิ่มในเดือน ม.ค. ปีหน้า ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 22 นั่นคือต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 60% ในช่วง 2 ปี ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ธุรกิจขนาดและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่มีอยู่เกือบ 2.9 ล้านราย หากผู้ประกอบการไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ จะทำให้เกิดการเลิกจ้างจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีทยอยปิดตัวลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเป็นลูกโซ่

ประมาณว่า หากธุรกิจเลิกกิจการประมาณ 10% หรือ 2 แสนบริษัท อาจทำให้เกิดการว่างงานสูงถึง 4-5 แสนราย หรืออาจถึงล้านคน เพราะธุรกิจเคยแบกรับค่าแรงเพียงประมาณ 150-180 บาทต่อวัน ส่วนผลที่จะตามมาในระยะต่อไปก็คือ การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงถูกกว่า

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทจะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นถึง 22.4% จากปี 2555 ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับการปรับขึ้นค่าจ้างในอดีตที่เฉลี่ยเพียง 2.5% เท่านั้น

เช่นเดียวกับ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่า ผลจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทจะฉุดให้เศรษฐกิจประเทศ หรือจีดีพี มีโอกาสลดลงกว่า 2% เช่นเดิมสมมติว่าเศรษฐกิจควรโตประมาณ 5% ก็อาจโตช้าลงกว่า เพราะผลการขึ้นค่าจ้างแรงงานมีผลกระทบมากพอสมควร อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับประสิทธิภาพแรงงาน และทยอยปรับก็อาจส่งผลกระทบไม่มาก เพราะในบางจังหวัด การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันนั้น หมายถึงต้นทุนปรับเพิ่มกว่า 35% ซึ่งแม้ว่าทางสถาบันฯ จะเห็นด้วยการปรับขึ้นค่าแรงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน แต่ต้องไม่เป็นการขึ้นแบบก้าวกระโดดและอัตราเดียวกันทั้งประเทศ เพราะอุปสงค์และอุปทานของแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน

ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ หัวข้อ “อุตสาหกรรมไทยจะแข่งขันอย่างไรภายใต้ค่าแรงที่สูงขึ้น” ยังระบุว่า หากรัฐบาลเร่งปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 300 บาทอย่างรวดเร็ว และไม่เป็นระบบ อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้า การแข่งขันของภาคเอกชนในประเทศ ส่งผลต่อการเลิกจ้างงานในแรงงานระดับล่าง จนถึงการลงทุนและกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจในที่สุด ค่าแรงที่สูงขึ้นจะกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นต้องประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยางและเม็ดพลาสติก และก่อสร้าง

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินในทิศทางเดียวกันว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบหนักจากการปรับค่าแรง 300 บาท โดยเฉพาะธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งใช้แรงงานจำนวนมาก โดยเฉลี่ยแล้วต้นทุนในภาคการผลิตและการบริการของเอสเอ็มอีจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12-13 และคาดว่าจะทำให้ภาคบริการขาดแคลนแรงงานถึงร้อยละ 15 เนื่องจากจะมีการเลือกงานมากขึ้น

ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศจะสำแดงฤทธิ์เดชในไตรมาสแรกของปีหน้า ต้องลุ้นกันว่าจะลามกระทบต่อผู้ประกอบการ แรงงาน เมื่อเจ๊ง เลิกจ้าง กระทบภาคการผลิต ส่งออก และภาพรวมเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่หรือไม่ นโยบายค่าแรง 300 บาทกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจปีหน้า และเป็นหนึ่งในตัวแปรหลักที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้น้ำหนักในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะมีการประชุมครั้งแรกในปีหน้า วันที่ 9 ม.ค. 2556

ขณะที่นโยบายช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการที่จะได้รับกระทบกลับยังมืดมน นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า การที่รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เอสเอ็มอี เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือได้มากที่สุด เพราะค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นเป็นวันละ 300 บาทมีผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการมาก แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ก็อาจมีผลทำให้ปิดกิจการประมาณ 1 ล้านราย และทำให้เอสเอ็มอีที่ได้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำตามมาตรการต่างๆ วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทของรัฐก่อนหน้านี้ กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งจะกระเทือนถึงภาระของรัฐบาลอีกระลอก

ไม่เพียงแต่นโยบายปรับขึ้นค่าแรงเท่านั้นที่เสี่ยงเศรษฐกิจทรุด ทางเวิลด์แบงก์ยังเตือนให้ระวังผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากโครงการประชานิยมจำนำข้าวทุกเม็ดของรัฐบาลอีกด้วย

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้ทำการศึกษาผลกระทบโครงการรับจำนำข้าวในฤดูกาล 2555/2556 คาดว่ารัฐบาลต้องใช้งบประมาณ 432,000 ล้านบาท หรือประมาณ 3.8% ของจีดีพี สูงกว่าฤดูกาลปีก่อนที่รัฐใช้เงิน 376,000 ล้านบาท หรือ 3.4% ของจีดีพี แต่ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้ขายข้าวออกจากคลังสินค้า จึงต้องติดตามผลขาดทุนที่แท้จริงเมื่อรัฐบาลขายข้าวออกมา

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากแนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลก คาดว่าผลขาดทุนจะอยู่ระหว่าง 132,000 ล้านบาท สำหรับฤดูการผลิตปีนี้ และเมื่อรวมผลขาดทุนจากในฤดูกาล 2554/2555 อีก 115,000 ล้านบาท รวมแล้วผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว 2 ปีมีจำนวน 247,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1-1.3% ของจีดีพี เนื่องจากรัฐบาลตั้งราคารับจำนำข้าวสูงกว่าราคาข้าวในตลาดโลกประมาณ 50% หรือที่ประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และคาดว่าราคาข้าวขาว 5% ในตลาดโลกปี 2556 จะอยู่ที่ 520 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ต่ำกว่าปีนี้ซึ่งอยู่ที่ 550 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

พร้อมกับเสนอแนะว่า รัฐบาลควรนำงบประมาณไปใช้ในการเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพข้าว และช่วยชาวนาที่มีรายได้น้อยโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินงบประมาณมาก และยังเป็นการเพิ่มผลผลิตข้าวไทยให้สูงขึ้น ซึ่งจากข้อมูลปี 2543-2553 ประเทศไทยมีผลผลิตข้าวต่ำสุดอยู่ที่ 2,877 ตันต่อเฮกเตอร์ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม มีผลผลิตข้าว 4,834 ตันต่อเฮกเตอร์, อินเดีย 3,103 ตันต่อเฮกเตอร์, พม่า 3,757 ตันต่อเฮกเตอร์

เวิลด์แบงก์ ซึ่งประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของไทยว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 4.7 เนื่องจากมีการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ผลักดันการบริโภคและการลงทุนให้เติบโตสามารถทดแทนการส่งออกที่ชะลอตัว ยังเตือนว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมืองภายใน รวมทั้งนโยบายประชานิยม ซึ่งการกู้เงินเพื่อมาลงทุนของภาครัฐและทุ่มให้โครงการประชานิยม จะทำให้หนี้สาธารณะของไทยในปี 2556 จะใกล้เคียง 50% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจาก 45% ในปีนี้

ดังนั้น สิ่งที่เป็นห่วงคือหนี้สาธารณะซ่อนเร้นที่รัฐต้องแบกรับอาจส่งผลต่อฐานะการคลังในภาพรวม และสถาบันการเงินของรัฐที่จะมีหนี้สะสมมากขึ้นจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล จะมีผลต่อภาระงบประมาณที่รัฐบาลจะต้องชดเชยความเสียหายให้กับสถาบันการเงินของรัฐในอนาคต

ขณะที่นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ เตือนรัฐบาลว่า โครงการรับจำนำข้าวจะทำให้หนี้สาธารณะพุ่งเป็น 70-80% ในปี 2562 ทั้งนี้ โครงการรับจำนำข้าวถือเป็นนโยบายประชานิยมที่ใช้งบประมาณมากและไม่มีวันสิ้นสุด ขณะที่การระบายข้าวสู่ตลาดโลกทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายเพราะราคาสูงกว่าประเทศอื่น และคู่แข่งสำคัญ เช่น เวียดนาม อินเดีย ได้เพิ่มผลผลิตข้าวสู่ตลาดโลกในราคาที่ต่ำกว่าไทย

ส่วนอีกหนึ่งโครงการประชานิยมที่ประชาชนแห่เข้าร่วมล้นหลาม คือ โครงการคืนภาษีรถคันแรก ซึ่งจะส่งผลทั้งกระตุ้นการก่อหนี้ส่วนบุคคล หนี้ครัวเรือนเพิ่ม และเป็นภาระของรัฐในการหาเงินมาคืนภาษีให้ผู้ซื้อรถ โดยกรมสรรพสามิตคาดว่าจะมีรถเข้าร่วมโครงการประมาณ 1.2 ล้านคัน เม็ดเงินที่รัฐที่ควรจะได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิตแต่กลับต้องคืนให้ผู้ขอใช้สิทธิคาดว่าจะตกประมาณแสนล้านบาท

กระแสวิพากษ์วิจารณ์โครงการรถคันแรกมีมาอย่างต่อเนื่อง โครงการนี้กลุ่มที่ได้ประโยชน์เต็มๆ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และธุรกิจต่อเนื่องที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดจนทำให้ไทยกลายเป็นผู้ผลิตยานยนต์อันดับที่ 9 จากเดิมอยู่อันดับที่ 15 ของโลก

ส่วนประชาชนเข้าร่วมโครงการที่เหมือนว่าจะได้ประโยชน์จากการคืนเงินภาษีแต่ถึงที่สุดแล้วอาจกลายเป็นทุกขลาภเพราะรายได้ไม่มากพอจะผ่อนรถและค่าใช้จ่ายจิปาถะที่จะตามมา ทั้งค่าประกัน ค่าบำรุงรักษา ค่าน้ำมัน ฯลฯ สุดท้ายก็จะได้เห็นมหกรรมการยึดรถของไฟแนนซ์ ทำให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลในระบบสถาบันการเงิน ขณะที่หนี้ครัวเรือนก็พุ่งกระฉูด

เห็นได้จากรายงานของแบงก์ชาติ ที่พบว่ายอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีมูลค่า 2.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.4% และจากต้นปีจนถึงไตรมาส 3/55 ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตรา 15.73% โดยสินเชื่อเพื่อการบริโภคมีอัตราการเติบโตจากต้นปี 23.67% โดยมียอดสินเชื่อคงค้าง ณ ไตรมาส 3/55 จำนวน 643,889 ล้านบาท สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์/จักรยานยนต์คงค้าง 749,844 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปี 22.39%

ขณะที่ไฟแนนซ์ปล่อยกู้รถยนต์คันแรก เริ่มเห็นการขอนำรถมาคืนเพราะมีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ เนื่องจากการด่วนตัดสินใจซื้อเพื่อให้ทันได้สิทธิขอคืนภาษี และความต้องการซื้อรถยนต์อีโคคาร์ทั้งที่ความจริงตามฐานะการเงินอาจซื้อได้แค่รถจักรยานยนต์เท่านั้น

นอกจากนั้น ธุรกิจเช่าซื้อซึ่งแข่งปล่อยสินเชื่อที่อนุญาตให้ดาวน์ต่ำตั้งแต่ 20% ลงมาเป็นการกวาดกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงเข้ามาในพอร์ต ยิ่งดาวน์ต่ำ ภาระสินเชื่อที่ต้องจ่ายคืนก็จะสูง ดอกเบี้ยจะแพงกว่า จะทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถผ่อนชำระได้ โดยเชื่อว่ากลุ่มนี้น่าจะอยู่ในตลาดอีโคคาร์ค่อนข้างมาก เพราะรถราคาไม่สูงมากมีโอกาสที่ลูกค้ากลุ่มที่ความสามารถทางการเงินยังไม่พร้อมจะเข้ามาได้ง่ายกว่า โดยในกลุ่มผู้ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรายใหญ่ขณะนี้ต่างเริ่มเห็นสัญญาณปัญหาที่ลูกค้าหยุดผ่อนชำระบ้างแล้ว

นี่ยังไม่นับว่าโครงการรถคันแรกจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ทั้งการจราจรติดขัด มลพิษ การหันมาลงทุนก่อสร้างถนนเพื่อรองรับรถยนต์แทนที่รัฐจะเน้นการลงทุนระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งอุบัติเหตุ อาชญากรรม คดีฟ้องร้อง การยึดรถหรือขอคืนรถยังจะส่งผลต่อธุรกิจรถมือสองที่จะเกิดความปั่นป่วนตามมา

ก็ต้องลุ้นกันว่า นโยบายประชานิยมที่ชื่นชมกันว่าดีเยี่ยมทั้งหลายนั้น จะนำพาเศรษฐกิจไทยรุ่งโรจน์หรือสุ่มเสี่ยงสู่หายนะกันแน่
กำลังโหลดความคิดเห็น