xs
xsm
sm
md
lg

ค่าแรง 300 ดันค่าจ้างพุ่ง 9% ธปท.แนะงอกธุรกิจใหม่-เพิ่มเวลาทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แบงก์ชาติเผยรอบสองในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ดันค่าจ้างบางจังหวัดกระโดด 70-80% แต่ภาพรวมส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำกระโดด 20% และกระทบต่อค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9% ห่วงเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดหนักสุด ส่วนรัฐตั้งงบประมาณพิเศษเยียวยาช่วยได้ชั่วคราว ชี้ขึ้นค่าจ้างรอบแรกดูดแรงงานจากพื้นที่ 70 จังหวัด ส่วนผู้ประกอบการบางจุดปรับตัวทำธุรกิจงอกในอุตสาหกรรมอื่นแทน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดีตลาดในประเทศ รวมถึงเพิ่มเวลาทำงาน

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ทำการประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทใน 70 จังหวัดที่เหลือ ถือเป็นการปรับเป็นรอบ 2 ในวันที่ 1 ม.ค.56 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด โดยแม้ไม่กระทบอุตสาหกรรมหลัก แต่อาจกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เพราะบางจังหวัดค่าจ้างกระโดดถึง 70-80% อย่างไรก็ตาม การปรับค่าจ้างรอบสองนี้จะส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 20% และกระทบต่อค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9%

“รอบแรกค่าจ้างขั้นต่ำโดยรวมเพิ่มขึ้น 40% ทำให้กระทบค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 17% รอบสองคาดว่าค่าจ้างขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้น 20% และส่งผลกระทบต่อค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9% ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่า ปกติในแต่ละปีก็มีการเพิ่มขึ้นอยู่แล้วด้วย และการปรับรอบแรกใน 7 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมหลัก และค่าแรงก็ใกล้เคียงกับอัตรา 300 บาทต่อวัน แต่การปรับรอบสองนี้ที่เหนื่อยหน่อยคงเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีที่ส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัดคงต้องหันไปทำธุรกิจอื่นที่ใช้แรงงานน้อยลง หรือใช้เครื่องจักรทดแทน หากไม่สามารถลดต้นทุนส่วนนี้ได้”

ส่วนประเด็นที่ภาครัฐอาจจะออกมาตรการมาช่วยเยียวยาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบนี้ ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่เป็นเพียงชั่วคราวเพื่อต่อสายป่านให้ยาวขึ้น และอาจจะไม่ได้ช่วยเหลือในทุกปี

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่า สิ่งที่เห็นชัดมีการย้ายแรงงานจาก 70 จังหวัดที่เดิมทียังไม่ได้ปรับขึ้นย้ายเข้ามาในพื้นที่ 7 จังหวัดที่มีการประกาศให้ปรับขึ้นในรอบแรก ทำให้แรงงานบางส่วนใน 70 จังหวัดได้ปรับขึ้นไปแล้วจากการถูกถึงแรงงานเข้ามา ซึ่งตลาดแรงงานใน 7 จังหวัดเหล่านี้ส่วนใหญ่มีแรงงานที่ค่อนข้างตึงตัวพอสมควร

นอกจากนี้ ในแง่ของผู้ประกอบการบางจุดอาจลดคนจากการปรับค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นหรือภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ไปงอกในอุตสาหกรรมอื่นแทน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดีตลาดภายในประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ ธปท.ได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเฉลี่ย และค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่เฉพาะแง่ของจำนวนอย่างเดียวที่เพิ่มขึ้น แต่ยังพบว่า ช่วงที่มีการซ่อมสร้างมีเวลาการทำงานเพิ่มขึ้นแฝงมาด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เห็นได้ชัดเจน

สำหรับแรงงานถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ในอีกแง่หนึ่งก็มีการขาดแคลนแรงงานไทยเช่นเดียวกัน แม้ภาคธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมมีการปรับตัวใช้แรงงานต่างชาติมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และเห็นว่ายังเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก แต่ในระยะยาวอุตสาหกรรมไทยควรพยายามยกระดับตัวเอง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากควรหันมาใช้เครื่องจักรมากขึ้น อีกทั้งสังคมไทยมีผู้สูงอายุมากขึ้น จึงจะหวังพึ่งปัจจัยการผลิตที่เป็นแรงงานมากต่อไปคงลำบาก

เร่งโครงการรัฐหนุน-สร้างบรรยากาศลงทุน

นายไพบูลย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ทำการประเมินเบื้องต้นของโครงการลงทุนภาครัฐ แต่ยังไม่ได้รวมอยู่ในประมาณการ เพราะต้องรอดูความชัดเจนต่อไป โดยในส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศ 2.27 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีการลงทุนโครงการใหม่ 30% ของเม็ดเงินในโครงการนี้ด้วย ส่วนโครงการปรับปรุงระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท คาดว่าในปี 56 จะมีเม็ดเงินส่วนนี้ 6 หมื่นล้านบาทซึ่ง ธปท.และกระทรวงการคลังเห็นตรงกัน ดังนั้น โครงการเหล่านี้จะส่งผลดีต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย และสร้างบรรยากาศในการลงทุนภาคเอกชนให้ดีขึ้น

ทุกฝ่ายมองควรปรับปรุงบทบาทธนาคารรัฐ

ต่อข้อซักถามที่ว่า ธปท.ได้มีการประเมินภาระหนี้สาธารณะ และภาระนอกงบประมาณไว้บ้างหรือไม่ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ธปท.ได้วิเคราะห์ตัวเลขโดยรวมจากทุกเรื่องที่เป็นเม็ดเงินจริงๆ แต่ที่ยากหน่อย คือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพราะเป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้นว่ามีหนี้เสีย หรือต้องเพิ่มทุนหรือไม่

ทั้งนี้ สถาบันการเงินรัฐควรมีบทบาทตามพันธกิจเดิมที่ช่วยลดช่องว่างในส่วนที่สถาบันการเงินเอกชนไม่สามารถทำหน้าที่ครบถ้วน จึงไม่ควรลงแข่งขันทำธุรกิจกัน อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายทั้งคลัง และธนาคารโลกเห็นในทิศทางเดียวกันว่าจะปรับปรุง และแก้ไขปัญหานี้
กำลังโหลดความคิดเห็น