xs
xsm
sm
md
lg

"ธีระชัย" เฟซสอน “ปู” รื้อ!กติกาบริหารเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(1 ธ.ค.55) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala เสนอการแก้ไขกติกาบริหารเศรษฐกิจใหม่ ในส่วนของการแทรกแซงสินค้าเกษตร โดยแบ่งเป็น 3 ข้อ ข้อที่ 1 ควรห้ามการรับจำนำเกินราคาตลาด ซึ่งการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ควรยึดหลักเกณฑ์โปร่งใส ป้องกันทุจริต และตกไปถึงมือของเกษตรกรเต็มเม็ดเต็มหน่วย จากการช่วยเหลือใน 2 ลักษณะ ซึ่งไม่ควรปะปนกัน แยกเป็นการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ควรใช้วิธีการจำนำ ควรแก้ไขกติกาเพื่อห้ามมิให้รัฐบาลรับจำนำสินค้าใดเกินร้อยละ 80 ของราคาตลาด เพื่อให้มีผลเป็นการจำนำอย่างแท้จริงที่เกษตรกรจะมีโอกาสไถ่ถอนคืน ส่วนการช่วยเหลือชดเชยต้นทุน ไม่ควรใช้วิธีการจำนำ หากรัฐบาลต้องการช่วยเหลือต้นทุนของเกษตรกร ควรยังให้ทำได้ และถึงแม้หากรัฐบาลต้องการช่วยเกษตรกรสูงกว่าราคาตลาด ไม่ว่าจะมากเท่าใด ก็ยังควรให้ทำได้
นอกจากนี้ ควรกำหนดให้รัฐบาลต้องใช้วิธีการรับซื้อแบบตรงไปตรงมาไปเลย มิให้บิดเบือนไปใช้รูปของการจำนำอีกต่อไป ซึ่งการกำหนดให้รัฐบาลใช้วิธีการรับซื้อแบบตรงไปตรงมาแทนการจำนำ ทำให้เกษตรกรได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย และจะป้องกันการทุจริตได้ เนื่องจากขั้นตอนการรับซื้อและการเก็บรักษา จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงการคลังอย่างเคร่งครัด
ข้อ 2 ควรกำหนดนิยามของการขายแบบ G to G ให้รัดกุม ในกรณีที่รัฐบาลต้องการจะขายสินค้าเกษตรในสต๊อกนั้น กฎระเบียบขณะนี้กำหนดให้รัฐบาลต้องใช้วิธีประมูลเพื่อให้ได้ราคาสูงที่สุด ยกเว้นเฉพาะการขายแบบ G to G ไม่ต้องทำการประมูล อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีปัญหาว่าการขายกรณีใดเป็นการขายแบบ G to G หรือกรณีใดเป็นการขายให้แก่บุคคลภายในประเทศ จึงควรมีการกำหนดนิยามให้รัดกุมมากขึ้น ในเรื่องการทำสัญญาซื้อขาย ต้องทำสัญญาโดยตรงระหว่างผู้ซื้อต่างประเทศกับหน่วยงานของรัฐ การชำระเงิน ผู้ซื้อในต่างประเทศต้องเปิดแอลซี หรือจ่ายเงินตรงไปที่หน่วยงานของรัฐและการส่งออก ผู้ที่ทำพิธีการส่งออกสินค้าจากประเทศไทย ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หากไม่เข้านิยามนี้ต้องขายโดยวิธีการประมูลทุกกรณี
ส่วนข้อ 3 ควรกำหนดให้รัฐบาลชดเชยทุกปีที่ผ่านมา มีปัญหาว่ากว่ารัฐบาลจะรับรู้ตัวเลขผลขาดทุนโครงการสินค้าเกษตรนั้น ก็ต่อเมื่อมีการปิดโครงการเป็นทางการแล้วเท่านั้น แต่บางโครงการมีขั้นตอนการปิดโครงการที่ใช้เวลาเนิ่นนาน ดังนั้น การรับรู้ขาดทุนและภาระต่อรัฐ จึงล่าช้าไปด้วย และตัวเลขของหนี้สาธารณะก็ยังไม่สะท้อนความเป็นจริง จึงควรกำหนดให้ ธ.ก.ส. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลขาดทุนทุกๆ โครงการทุกสิ้นปี แล้วให้รัฐบาลชดเชยเงินตามตัวเลขดังกล่าวไปก่อนทันที แล้วค่อยปรับตัวเลขกันภายหลัง เมื่อปิดโครงการเป็นทางการ น่าจะมีการปรับปรุงเรื่องการกำกับดูแลการเก็บรายได้ และการก่อหนี้สาธารณะอีกด้วย
สำหรับการปรับปรุงกติกาเรื่องรายได้และการก่อหนี้สาธารณะ แบ่งเป็น 3 ข้อ ข้อที่ 1. ควรให้รัฐสภากำกับดูแลเรื่องรายได้และหนี้สาธารณะ โดยขณะนี้ในด้านรายจ่าย รัฐสภาทำหน้าที่กำกับอย่างละเอียดอยู่แล้วโดยผ่านขบวนการงบประมาณ แต่ในด้านรายได้และด้านหนี้สาธารณะนั้น รัฐสภายังมิได้มีบทบาทเท่าที่ควร จึงควรแก้ไขกติกา ให้รัฐบาลต้องประกาศต่อรัฐสภาทุกปี ในเรื่องเป้าหมายการหารายได้ และเป้าหมายหนี้สาธารณะ ต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อรัฐสภาเป็นระยะๆ และหากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามที่ให้สัญญาไว้แก่รัฐสภา น่าศึกษาความเป็นไปได้ และข้อดีข้อเสียว่าสมควรหรือไม่ที่จะมีบทบัญญัติ ห้ามมิให้รัฐบาลจ่ายเงินบางประเภทเป็นการชั่วคราวไว้ก่อน จนกว่ารัฐบาลจะเสนอแนวทางแก้ไขให้เป็นที่พอใจของรัฐสภา ในทำนองเดียวกับข้อกำหนดเรื่องหน้าผาการคลังของประเทศสหรัฐฯ
ข้อ 2. ควรแสดงภาระอนาคตของรัฐเป็นประจำทุกไตรมาส เพื่อให้ภาระอนาคตของรัฐโปร่งใส ควรให้กระทรวงการคลังประเมินภาระอนาคตที่จะเกิดขึ้นจากทุกๆ โครงการของรัฐบาลเป็นประจำทุกไตรมาส แล้วให้ประกาศตัวเลขดังกล่าวต่อสาธารณะ และข้อ 3 ควรประเมินภาระการเพิ่มทุนสำหรับธนาคารรัฐทุกปี ที่ผ่านมารัฐบาลมีการดำเนินนโยบายกึ่งประชานิยมผ่านธนาคารของรัฐ ซึ่งนอกจากจะทำให้กำไรลดลงแล้ว ยังอาจสร้างปัญหาหนี้สูญอีกทางหนึ่ง โดยภาระใดๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อธนาคารของรัฐนั้น สุดท้ายจะตกเป็นภาระของรัฐในที่สุด เนื่องจากรัฐไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มทุนให้แก่ธนาคาร เหล่านี้ในอนาคต ดังนั้นทุกสิ้นปีจึงควรให้กระทรวงการคลังประเมินว่าธนาคารของรัฐทั้งหมด มีวงเงินที่จะต้องเพิ่มทุนในอนาคตเพื่อให้ครบถ้วนตามมาตรฐาน BIS เป็นเงินเท่าใด และให้นับเงินดังกล่าวรวมเข้ากับตัวเลขภาระอนาคตของรัฐที่กระทรวงการคลังจะประกาศตัวเลขทุกไตรมาสด้วย.
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงแนวทางในการปรับโครงสร้างพลังงานในปี 2556 ว่า สิ่งที่ต้องเร่งทำคือการนำเงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนในส่วนของก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) โดยต้องเป็นโครงสร้างแท้จริงโดยที่ไม่บิดเบือน ทุกคนจะได้ประโยชน์ คนรวยก็ได้ประโยชน์ เพราะน้ำมันเบนซินจะลดราคาลง คนจนก็ได้ประโยชน์ได้ใช้ก๊าซในราคาเท่าเดิม ส่วนที่รัฐเคยไปอุดหนุนพวกที่ลักลอบขายแก๊สผิดประเภท พวกขนข้ามชายแดน หรือพวกที่บิดเบือนก็จะหายไป
ในส่วนของราคาแอลพีจีที่จำเป็นต้องปรับขึ้นในทุกกลุ่มผู้ใช้อัตราเดียวกันนั้น ทางกระทรวงจะออกมาตรการอุดหนุนกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในส่วนของภาคครัวเรือน และหาบเร่แผงลอย ที่จะต้องตรึงราคาให้อยู่ที่ 18 บาทต่อ ก.ก.เช่นในปัจจุบัน ทั้งนี้จะอุดหนุนให้แก่ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 90 หน่วยต่อเดือน มีอยู่ราว 8.33 ล้านครัวเรือน รวมกับกลุ่มหาบเร่แผงลอยอีกราว 5 แสนกว่าราย ซึ่งถือว่าครอบคลุมเกือบครึ่งประเทศ เนื่องจากผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศมีอยู่ราว 19 ล้านครัวเรือน เมื่อรัฐอุดหนุนแล้วก็จะทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับประโยชน์ในวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยและต้องซื้ออาหารจากบรรดาหาบเร่แผงลอย
ขณะนี้ได้เร่งตรวจสอบรายชื่อและที่อยู่ของผู้ที่ใช้ไฟฟ้าที่เข้าเกณฑ์ จำนวน 8.33 ล้านครัวเรือน หากถูกต้องก็จะพิมพ์บัตรเครดิตพลังงานที่จะใช้สำหรับการไปซื้อก๊าซในราคาถูกส่งไปให้ถึงที่บ้าน ซึ่งจากการประเมินพบว่าครัวเรือนเหล่านี้ใช้ก๊าซหุงต้มราว 6 ก.ก.ต่อเดือน โดยรัฐจะอุดหนุนให้ 6 บาทต่อ ก.ก. ก็จะเสียงบประมาณเพียงครัวเรือนละ 36 บาทต่อเดือน ในส่วนของกลุ่มหาบเร่แผงลอยอีกราว 5 แสนกว่ารายนั้นมีการประเมินว่าใช้สูงสุดอยู่ที่ราว 150 ก.ก.ต่อเดือน โดยได้ให้เจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจและลงทะเบียนรายชื่อของผู้ค้าทั่วประเทศถึงแผงค้า เพื่อจัดส่งบัตรเครดิตพลังงานไปให้เช่นกัน ทั้งนี้จะระบุจุดที่ร้านต่างๆอยู่ให้ชัดเจนด้วย
“ในส่วนของการทำฐานข้อมูลคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงแล้วเสร็จ หากเรียบร้อยแล้วก็จะเร่งดำเนินมาตรการให้เร็วที่สุด เพราะถือเป็นเรื่องที่ผู้มีรายได้ต่ำได้รับประโยชน์เต็มๆ โดยมีระบบตรวจสอบที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถบิดเบือนหรือลักลอบไปขายเช่นในปัจจุบันได้อีกด้วย” นายพงษ์ศักดิ์ ระบุ
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เหตุผลที่จำเป็นต้องมีการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มก็เนื่องจากที่ผ่านมาราคาจำหน่ายในตลอดต่ำว่าราคาต้นทุนของภาครัฐมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะราคาขายในไทยต่ำกว่า ส่งผลกลายเป็นว่ารัฐต้องไปอุดหนุนประเทศเพื่อนบ้านด้วย ทำให้คนไทยเสียประโยชน์ โดยเฉพาะผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ที่ถูกนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันที่นำมาอุดหนุนราคาก๊าซอยู่ในขณะนี้ หากแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ราคาน้ำมันเบนซินก็จะต่ำลง ทุกวันนี้ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันปีละไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท ผ่านมา 5 ปีก็เสียไปแล้วแสนกว่าล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น