xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ย้ำไม่ห่วงค่าบาท "โต้ง"เชื่อแข็งต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"คลัง-แบงก์ชาติ" ไม่กังวลค่าบาทแข็งแต่จับตาอย่างใกล้ชิด "กิตติรัตน์" คาดแข็งค่าต่อเนื่อง ยันไม่มีการแทรกแซงหรือออกมาตรการพิเศษ ยกเว้นมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้มีการนำเงินบาทไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แบงก์ชาติเผย QE3 ผลักดันเงินไหลเข้าเอเชียรวมทั้งไทย ล่าสุดบาทแข็งค่าสูสีเงินริงกิต นับจากสิ้นปี55 ถึงปัจจุบันบาทแข็ง 1.50% ส่วนค่าความผันผวนเงินบาทเพิ่มขึ้นเป็น 4.20%


นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากการที่สหรัฐใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้แนวโน้มเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลกแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์ ยกเว้นประเทศที่ขาดดุลการค้าหรือดุลบัญชีเดินสะพัด อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง คงไม่มีนโยบายที่จะเข้าแทรกแซงค่าเงินให้ผิดธรรมชาติ แต่จะดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนให้มีการนำเงินบาทไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ทั้งลงทุนโดยตรงหรือลงทุนในตราสารการเงินต่างๆ รวมถึงส่งเสริมเอกชนใช้โอกาสนี้ในการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

นายกิตติรัตน์กล่าวถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลว่าจะไม่มีการกู้เงินตราต่างประเทศ เพราะจะส่งให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก แต่จะใช้แหล่งเงินในประเทศ โดยสภาพคล่องในระบบขณะนี้ยังมีเพียงพอ เพราะที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้าดูแลสภาพคล่อง โดยทำให้เงินบาทมีเสถียรภาพ และไม่กระทบต่อผู้ส่งออก

"เงินบาทแข็งค่าก็มองในด้านดี เพระเรามีการนำเข้าพลังงานมาก ทำให้เรามีรายจ่ายที่ไม่มากเกินไป เชื่อว่า ธปท.และคลังจะติดตามดูแลเงินบาทไม่ให้เกิดผลดีหรือผลเสียในด้านใดด้านหนึ่ง" นาย

กิตติรัตน์กล่าว

***ธปท.ชี้เงินทุนยังเป็น 2 ทิศทาง

นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าในช่วงนี้เนื่องจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะนักลงทุนกล้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) แสดงความคิดเห็นว่ายังคงดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ รอบที่3 (QE3) ต่อไป รวมถึงธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.75% ทำให้นักลงทุนมั่นใจมากขึ้นส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงและสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียแข็งค่าขึ้น

“เทรนด์เงินดอลลาร์อ่อนเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ยกเว้น เงินเยน ประกอบกับเงินทุนไหลเข้าส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ทั้งภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติไม่ได้กังวลที่เงินบาทแข็งค่าตราบใดที่ยังเป็นสถานการณ์อย่างนี้ทั้งภูมิภาคและตลาดโลก จึงไม่สามารถตอบได้ว่าเงินบาทจะหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐหรือไม่ แต่ ธปท.ยังคงติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด”

ต่อข้อซักถามที่ว่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเอเชียนั้น ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.กล่าวว่า ค่าเงินบาทใกล้เคียงกับค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย ซึ่งเงินทุนไหลเข้าในประเทศเกิดใหม่แถบเอเชียทั้งภูมิภาค โดยเงินทุนไหลเข้าไทยส่วนใหญ่ต่างชาติลงทุนในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามในขณะนี้ พบว่า เงินบาทไม่ได้แข็งค่าในทิศทางเดียว แต่สถานการณ์เงินทุนยังมีทั้ง 2 ทิศทาง คือ เงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติ แต่ภาคเอกชนและผู้นำเข้าไทยที่ยังมีภาระก็มีการซื้อเงินดอลลาร์เก็บไว้ในช่วงเงินบาทแข็งค่า

แม้เงินบาทแข็งค่าช่วงนี้ แต่ยังไม่เห็นผู้ส่งออกทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Hedging) เพิ่มมากขึ้นหรือยังไม่เห็นอะไรผิดปกติ แต่ ธปท.ยังคงติดตามดูต่อไป และแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศยังคงเป็นไปตามกรอบเวลาเดิมและไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม จึงไม่เร่งผลักดันเงินทุนไหลออกเร็วขึ้นจากกรณีที่เงินทุนไหลเข้าช่วงนี้ เพราะเห็นว่าแผนแม่บทฯ จำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท.แจ้งเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 15.52 น.เมื่อวานนี้ (15 ม.ค.) การเคลื่อนไหวเงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวัน (วันที่ 15 ม.ค.เทียบกับวันที่ 14 ม.ค.) เงินบาทแข็งค่า 0.43% ซึ่งเงินบาทไทยเป็นรองแค่เงินเยนของญี่ปุ่นที่แข็งค่า 0.71% ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนจนถึงปัจจุบัน พบว่า เงินบาทแข็งค่า 1.50% เป็นอันดับที่ 3 ส่วนเงินริงกิตแข็งสุดในภูมิภาคอยู่ที่ 1.68% ตามมาด้วย เงินวอนเกาหลีใต้แข็งค่า 1.51% ส่วนอันดับ 4 คือ เงินเปโซฟิลิปปินส์ 1.18%

สำหรับค่าความผันผวนของเงินบาทปัจจุบันอยู่ที่ 4.176% เทียบกับวันก่อนที่ 3.579% และสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 3.898% ถือว่าเงินบาทมีความผันผวนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบทั้งวันก่อนและสิ้นปีก่อน ซึ่งค่าความผันผวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง.
กำลังโหลดความคิดเห็น