xs
xsm
sm
md
lg

“โต้ง” ชี้ ศก.ไทยปี 56 ยังมีความเสี่ยง “กรณ์” แนะ รบ.ใส่ใจวินัยการเงินการคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ขุนคลัง” ชี้ ศก.ไทยปี 56 ยังมีความเสี่ยง ยอมรับ “บาทแข็ง” กระทบส่งออก แต่คงเป๋นแค่ในระยะสั้น คาดกลับสู่ปกติ หลังรัฐบาลเดินหน้าลงทุน “กรณ์” ตำหนิรัฐบาลไม่ใส่ใจกับการดูแลวินัยการคลัง ถือว่าสอบตก เบิกจ่ายงบจัดการน้ำ 3.5 แสนล. ล่าช้า ใช้จริงแค่ 4 พันล. แนะกู้ 2.2 ลล.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในงบประมาณเหมาะสมกว่า

สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจจัดสัมมนา เรื่อง “โจทย์ท้าทายอนาคตเศรษฐกิจไทย ปี 2556” โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นองค์ปาฐก โดยกล่าวว่า เศรษฐกิจในปีนี้ยังคงมีความท้าทายจากปัญหาเศรษฐกิจ เพราะประเทศในกลุ่มสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังคงแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ซึ่งแนวทางดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการปรับขึ้นค่าเงินบาท และค่าเงินในภูมิภาค

ทั้งนี้ การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์คือผู้นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และน้ำมัน แต่เงินบาทที่แข็งค่าก็กระทบต่อกลุ่มผู้ส่งออกโดยตรงเช่นเดียวกัน ซึ่งระยะสั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจะดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวน ส่วนระยะยาวจะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเพิ่มการลงทุน โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเร่งการนำเข้าวัตถุดิบ เพิ่มความต้องการเงินดอลลาร์ ซึ่งหากทำควบคู่กันไป แนวโน้มค่าเงินบาทคงไม่แข็งค่ามากนัก สำหรับค่าเงินบาทเช้านี้ เคลื่อนไหวอยู่ที่ 29.78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายกิตติรัตน์ ยังเชื่อว่า สถานการณ์เงินบาทปรับตัวแข็งค่าน่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ เท่านั้น และฝ่ายการเมืองคงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว คงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะดูแลให้เกิดความสมดุล

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านบวก และด้านลบ โดยในด้านบวกจะเป็นผลดีต่อผู้นำเข้าสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบ และสินค้าหมวดพลังงาน ขณะเดียวกัน ในด้านลบจะส่งผลเสียต่อผู้ส่งออก และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศ ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องพยายามดูแลค่าเงินบาทให้เกิดเสถียรภาพ

ทั้งนี้ หลังจากโครงการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ได้แก่ โครงการขนส่งระบบราง โครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เป็นต้น เริ่มดำเนินการก็จะมีความจำเป็นต้องนำเข้าสินค้า และเครื่องจักรจากต่างประเทศ ก็จะทำให้ภาวะการเกินดุลการค้ากลับเข้าสู่ภาวะสมดุล หรือขาดดุลเล็กน้อย

“การเกินดุลจะกลับมาสู่ภาวะสมดุล หรืออาจจะขาดดุลได้นิดๆ ซึ่งไม่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่าไปโดยปริยาย แต่จะกลับมาอ่อนค่าได้เอง”

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การที่ประเทศใหญ่อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของตัวเองย่อมส่งผลให้เกิดความกดดันต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ แต่จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจโลกกลับมาสู่ภาวะปกติ จึงเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ และแต่ละประเทศย่อมมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในของตนเองแตกต่างกันไป

สำหรับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น งบประมาณที่นำมาใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีความสมดุลกับเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามา

ขณะที่มุมมองของ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ พบว่า ยังสอบตกในเรื่องวินัยทางการคลัง โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว และโครงการพัฒนาระบบน้ำที่ออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงินกว่า 350,000 ล้านบาท ซึ่งพบว่าการเบิกจ่ายตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวนั้นล่าช้า โดยในวันที่ 25 มกราคม ซึ่งจะครบ 1 ปี แต่มีการเบิกจ่ายเพียง 4,000 ล้านบาทเท่านั้น ด้วยกรอบกฎหมายที่กำหนดจะต้องกู้เงินให้ครบตามจำนวนในระยะเวลาที่กำหนดในเดือนมิถุนายน ซึ่งรัฐบาลต้องมีแนวทางในการกู้เงินที่ชัดเจน เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด ทั้งนี้ เป็นสิ่งสะท้อนว่า วินัยการคลังของรัฐบาลกำลังมีปัญหา ซึ่งคิดว่าการกูเงินตาม พ.ร.ก. ไม่ทัน ควรใช้งบประมาณประจำปีแทน

สำหรับการกู้เงินตาม พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทนั้น เห็นด้วย แต่อยากให้กู้เงินตามระบบงบประมาณเพราะมีกรอบของข้อกฎหมายกำหนดเพดานการกู้ยืม ซึ่งหากกู้นอกงบประมาณจะทำได้ยากลำบาก






กำลังโหลดความคิดเห็น