“กิตติรัตน์” ชี้การแข็งค่าของเงินบาท เป็นภาวะแค่ช่วงระยะสั้นเท่านั้น เชื่อแบงก์ชาติจับตาดูแลค่าเงินใกล้ชิด พร้อมยอมรับเงินบาทผันผวนกระทบเสถียรภาพ ศก.ไทย
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสาเหตุที่ค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องว่า เป็นผลจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ เพื่อเข้ามาแสวงหาผลกำไรในระยะสั้น ในช่วงที่ทางการสหรัฐฯ ยังดำเนินใช้มาตรการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ หรือ QE ส่งผลให้เงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลง และส่งผลให้ค่าเงินสกุลอื่นแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตาม การดูแลค่าเงินเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ยอมรับว่า การที่เงินบาทปรับตัวแข็งค่าในระยะสั้นต่อวัน หรือต่อสัปดาห์ เป็นเรื่องที่ไม่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
“เชื่อว่าแบงก์ชาติจะพยายามติดตามดูแลค่าเงินในระยะสั้น ถ้าเงินบาทแข็งค่าเทียบต่อวัน ต่อสัปดาห์ หรือต่อชั่วโมงคงไม่ดี แต่ในอนาคต ยังมีความต้องการใช้เงินตราต่างประเทศรออยู่ เงินบาทก็จะไม่ได้แข็งค่าต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แน่นอน”
ทั้งนี้ รัฐบาลเองพร้อมจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าทุน เพื่อเพิ่มความต้องการใช้เงินตราต่างประเทศ ตลอดจนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำเข้าสินค้าทุนด้วย โดยจะเป็นปัจจัยที่ช่วยแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าในระยะยาวได้ ซึ่งในส่วนของรัฐบาลเองพยายามที่จะดูแลเรื่องการรักษาสมดุลของดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ให้เบี่ยงเบนเกิน 1% ของจีดีพี เพื่อให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ
โดยเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2556 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 29.84/88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากช่วงเช้าที่ระดับ 29.98/30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าในรอบ 16 เดือน เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้า และผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์ในช่วงบ่าย
ล่าสุด เมื่อเช้านี้ ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 29.72/74 บาทต่อดอลลาร์ ปรับตัวแข็งจากเย็นวานนี้ที่ระดับ 29.84/88 บาทต่อดอลลาร์