xs
xsm
sm
md
lg

แอสเซสพลัสเผยบอนด์คึก ต่างชาติแห่ลงทุน8.6หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.แอสเซท พลัส เผยต่างชาติแห่ลงทุนบอนด์ไทยเพียบ ยอดซื้อสุทธิที่ 86,000 หมื่นล้านบาท ล่าสุดส่งกองทุน "แอสเซทพลัสทรัพย์มั่นคง 3" Rollover เน้นลงทุนระยะสั้น ชูผลตอบแทน 2.8%

นางสาวฤดี ปติอารยกุล ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยว่า จากกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลมาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 18 มกราคม 2556 มียอดซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยประมาณ 86,000 ล้านบาท และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรปรับตัวลดลงโดยเฉพาะตราสารระยะสั้น

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับการคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ไทยปี 2556 เป็น 4.9% จาก เดิม 4.6% บวกกับตลาดเริ่มคาดว่าอาจจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในครึ่งปีหลัง จากอัตราเงินเฟ้อที่อาจปรับตัวสูงขึ้น และเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้อยู่ แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท ที่อาจส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการขายและการตลาด กล่าวว่า บริษัทฯยังคงเน้นลงทุนในตราสารที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือนเป็นหลัก ควบคู่กับการทยอยลดสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยระยะสั้นที่อัตราผลตอบแทนได้ปรับลดลง หลังจากมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในพันธบัตรระยะสั้น โดยในวันที่ 31 มกราคม นี้ บริษัทฯ จะ Rollover กองทุนเปิดแอสเซทพลัสทรัพย์มั่นคง 3 (ASP-SIF3) ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ ที่เปิดเสนอขายเป็นรอบระยะเวลา โดยลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ไทย อายุประมาณ 3 เดือน ผลตอบแทนประมาณ 2.80% ต่อปี

นอกจากนี้ บริษัทสามารถรับซื้อหน่วยลงทุนอัตโนมัติของกองทุนเปิดแอสเซทพลัสสตาร์ 2 ครั้งที่ 2 ในอัตราหน่วยละ 0.45 บาท ด้วยมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) 11.0104 บาท โดยใช้ NAV ณ วันที่ 22 มกราคม 2556 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขโครงการที่จะทยอยทำกำไรด้วยวิธีรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ หากมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ปรับขึ้น ทุก ๆ 0.50 บาท จากราคาเริ่มต้นที่ 10 บาท

สำหรับกองทุน ASP-STARS 2 เป็นกองทุนผสมที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ และสามารถปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นได้ 0-100% มีอายุโครงการ 18 เดือน ซึ่งกองทุนมีการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยการวิเคราะห์แนวโน้มการปรับตัวของอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อปรับสัดส่วนการป้องกันความเสี่ยงให้เหมาะสมในแต่ละขณะ
กำลังโหลดความคิดเห็น