xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2555 ปีทองของการลงทุนในตลาดการเงินไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ด้วยภาพรวมของสถานการณ์ในด้านต่างๆ ที่ล้วนแต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของปัจจัยภายนอกประเทศอย่างเช่นวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่เริ่มมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสถิติและตัวเลขสำคัญหลายตัวของสหรัฐอเมริกาที่เริ่มส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศ ทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความวุ่นวายและความขัดแย้งน้อยลง การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่แทบจะไม่เกิดขึ้น หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรงในรอบกว่า 50 ปีที่เกิดขึ้นในปีก่อน ทั้งหมดนี้มีผลทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินของไทยตลอดทั้งปี 2555 มีความคึกคักอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังสามารถสร้างผลตอบแทนในระดับที่ค่อนข้างสูงให้แก่ผู้ลงทุน นอกจากนี้แล้ว บรรยากาศของการลงทุนที่ดีขึ้นบวกกับจำนวนของผู้ลงทุนที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ยังมีผลช่วยให้พัฒนาการของตลาดการเงินภายในประเทศไทย ทั้งในส่วนของตลาดหุ้น และโดยเฉพาะในส่วนของตลาดตราสารหนี้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วยในหลายๆ ด้านด้วยกันครับ

เริ่มจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (หรือที่คุ้นเคยกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “ตลาดหุ้น”) ในปี 2555 ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 34% (ข้อมูลถึงวันที่ 21 ธ.ค. 55) หลังจากที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปกว่า 350 จุดเมื่อเทียบกับในช่วงต้นปี ขณะที่เงินปันผลเฉลี่ยของหุ้นทุกๆ ตัวในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ที่ประมาณ 3% (สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2.75%) และมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 31,125 ล้านบาทต่อวัน ปรับตัวดีขึ้นจากในปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 28,855 ล้านบาทต่อวัน นอกจากนี้แล้ว SET Index ที่ปรับตัวสูงขึ้นยังมีผลทำให้ขนาดของตลาดหลักทรัพย์ฯ (Market Capitalization) ขยายตัวขึ้นจากระดับ 8.40 ล้านล้านบาทในปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 11.64 ล้านล้านบาท

และด้วยบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีส่วนให้ภาคเอกชนต้องระดมทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงานมากขึ้น ส่งผลทำให้ในปี 2555 มีเอกชนรายใหม่จำนวน 8 แห่งจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนผ่านการขายหุ้นสามัญให้ประชาชนโดยทั่วไป ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดซื้อสุทธิสะสมนับตั้งแต่ต้นปีกว่า 72,720 ล้านบาท จากที่ในปีก่อนหน้านั้นต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 5,120 ล้านบาทครับ

อย่างไรก็ตาม หากเป็นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในช่วงปี 2555 อาจจะทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนในระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากลักษณะเฉพาะตัวที่มีความแตกต่างกันระหว่าง “หุ้นสามัญ” (ในตลาดหุ้น) กับ “ตราสารหนี้” (พันธบัตรภาครัฐ และหุ้นกู้) โดยที่ราคาตราสารหนี้จะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดเป็นหลัก (ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมีผลทำให้ราคาตราสารหนี้ลดลง หากดอกเบี้ยลดลงจะมีผลทำให้ราคาตราสารหนี้เพิ่มขึ้น) ซึ่งแตกต่างจากราคาหุ้นสามัญที่เคลื่อนไหวตามผลการดำเนินงานและข่าวที่มีผลกระทบต่อกิจการเป็นหลัก (ผลประกอบการที่ขาดทุนหรือข่าวในแง่ลบมีผลทำให้ราคาหุ้นสามัญลดลง ขณะที่ผลการดำเนินงานที่เป็นกำไรหรือข่าวในแง่บวกจะมีผลทำให้ราคาหุ้นสามัญเพิ่มขึ้น) ทั้งนี้ ดัชนีตลาดตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 3.4% เมื่อเทียบกับในช่วงต้นปี ขณะที่ดอกเบี้ยจ่าย (Coupon) โดยเฉลี่ยของตราสารหนี้ในตลาดอยู่ที่ประมาณ 4.2% ซึ่งยังถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีด้วยกันทั้งคู่ครับ

แม้ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดตราสารหนี้อาจจะไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับผลตอบแทนของตลาดหุ้น แต่ด้วยภาพรวมของการลงทุนภายในประเทศที่มีความคึกคักตลอดทั้งปี บวกกับแนวโน้มของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้มีผลทำให้ภาคเอกชนเข้ามาระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ (ตราสารหนี้ที่มีอายุมากกว่า 270 วัน) คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 504,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดสำหรับการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ใน 1 ปีของภาคเอกชนในประเทศไทย โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นบริษัทเอกชนที่เคยออกหุ้นกู้มาแล้วจำนวน 56 แห่ง และเอกชนที่เริ่มออกหุ้นกู้ในปีนี้เป็นปีแรกจำนวน 7 แห่ง

ขณะที่มูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้ (ไม่รวมตราสารระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี) เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20,900 ล้านบาทต่อวัน ปรับตัวดีขึ้นจากในปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9,650 ล้านบาทต่อวัน นอกจากนี้แล้ว การระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ทั้งในส่วนของภาคเอกชนและภาครัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ยังมีผลทำให้ขนาดของตลาดตราสารหนี้ (Outstanding Value) ขยายตัวขึ้นจาก 7.11 ล้านล้านบาทในปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 8.57 ล้านล้านบาทในปีนี้ และด้วยปัจจัยบวกในทุกๆ ด้านเหล่านี้ มีผลดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดซื้อสุทธิสะสม (เฉพาะตราสารหนี้อายุมากกว่า 1 ปี) นับตั้งแต่ต้นปีกว่า 242,900 ล้านบาท ต่อเนื่องจากในปีก่อนหน้านั้นที่มียอดซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทย 162,740 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าพัฒนาการที่ดีขึ้นในด้านต่างๆ ทั้งในส่วนของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ในปี 2555 นี้ จะเป็นสัญญาณและรากฐานที่ดีที่จะช่วยทำให้การลงทุนในตลาดการเงินของไทยในปีถัดๆ ไปมีความน่าสนใจ และกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สำคัญสำหรับทั้งผู้ที่มีเงินออมและผู้ที่ต้องการเงินทุนอย่างแน่นอนครับ

โดยสุชาติ ธนฐิติพันธ์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด, ThaiBMA
suchart@thaibma.or.th
www.thaibma.or.th


กำลังโหลดความคิดเห็น