xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดการเงินของไทย กับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยพอพิศ ยอดแสง
porpit@thaibma.or.th
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th

การตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จากเดิมที่ 3% ลงสู่ระดับ 2.75% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา (17 ตุลาคม 2555) ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินของไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านั้น นักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างคาดการณ์ว่า ธปท.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3% ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นปีหน้า เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังไม่น่าจะถึงจุดที่ต้องนำนโยบายการลดอัตราดอกเบี้ยมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2555

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้อาจวิเคราะห์ได้ว่าเป็นผลมาจากแรงกดดันใน 2 ส่วนด้วยกัน คือ (1) ภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังชลอตัว และ (2) การไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการชลอตัวของเศรษฐกิจโลก น่าจะถือเป็นประเด็นหลักที่คณะกรรมการ กนง. ให้น้ำหนักและนำไปสู่การตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ เพราะถึงแม้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยจะยังอยู่ในระดับที่สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยตัวเลขการส่งออกที่ปรับตัวลดลง อันเป็นผลมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งในฝั่งยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ประเทศจีน ซึ่งล้วนแต่เป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย ก็อาจมีผลฉุดให้เศรษฐกิจไทยต้องเข้าสู่ภาวะชลอตัวตามไปด้วย ดังนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้

นอกจากจะมีผลช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกมากขึ้นแล้ว ยังจะเป็นการช่วยเหลือในทางอ้อมให้กับภาคเอกชนในประเทศ ที่ส่วนใหญ่พึ่งพาเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ และมีภาระดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate) โดยการลดดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลในทางอ้อมช่วยลดดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมในตลาดให้ต่ำลง และจะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันและประคับประคองภาคเอกชนในประเทศ ให้ผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ไปได้

สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คณะกรรมการ กนง. ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน หลังจากที่ธนาคารกลางในหลายๆประเทศ ทำการกระตุ้นเศรษฐกิจของตนเองผ่านการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เช่นมาตรการ QE3 ในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือมาตรการ Outright Monetary Transactions: OMT ของกลุ่มสหภาพยุโรป หรือนโยบาย Asset Purchase Program ของประเทศญี่ปุ่น โดยเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ส่วนหนึ่งได้ไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าภายในประเทศของตนเอง และประเทศในภูมิภาคเอเชียก็ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับเม็ดเงินจำนวนนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจของหลายๆประเทศในภูมิภาคเอเชียยังเติบโตอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง พร้อมๆกับผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับที่สูงกว่าด้วยเช่นกัน

ในกรณีของประเทศไทย การไหลเข้าอย่างต่อเนื่องของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2555 มีผลทำให้เงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นกว่า 4% จากเดิมที่ระดับ 31.9 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ระดับ 30.6 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินของหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น เงินสกุลดอลล่าร์ฮ่องกงที่แข็งค่าขึ้นจนถึงระดับที่ทำให้ธนาคารกลางฮ่องกงต้องประกาศที่จะเข้าไปทำการแทรกแซง ดังนั้น การประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ในครั้งนี้ จึงจะมีผลช่วยทำให้ความแตกต่างของผลตอบแทนจากการลงทุนระหว่างประเทศไทย และประเทศที่มีเงินส่วนเกินจากการอัดฉีดของธนาคารกลาง มีค่าลดลง และจะช่วยลดความร้อนแรงของกระแสเงินทุนที่จะไหลเข้าสู่ประเทศไทย ให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอุปสรรค และไม่เป็นอันตรายต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้

หันมามองในส่วนของตลาดตราสารหนี้ไทย พบว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ มีผลทำให้อัตราผลตอบแทนโดยรวมปรับตัวลดลงตามไปด้วย ประมาณ 20 basis point (100 basis point เท่ากับ 1%) และคาดว่าน่าจะมีผลทำให้การลงทุนในตราสารหนี้กลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น ถ้าหากธนาคารพาณิชย์เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การลงทุนในตราสารหนี้ยังถือว่าเป็นช่องทางที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ฯ ซึ่งอย่างไรก็ตาม หลังการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายที่สวนทางกับการคาดการณ์ของตลาดไปแล้ว นักลงทุนจึงให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับสัญญาณต่างๆ ที่ ธปท. อาจจะส่งออกมาในช่วงเวลานี้ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆในส่วนของดอกเบี้ยภายในประเทศอีกหรือไม่ ในการประชุมของคณะกรรมการ กนง. นัดสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 ที่จะถึงนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น