หุ้นไทยรีบาวนด์ 13 จุด ตามตลาดหุ้นอื่นๆ เหตุได้แรงหนุนจากการประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยของ กนง. และนักลงทุนคลายความกังวลต่อปัญหาของสเปน วงการมองดอกเบี้ยลดเพื่อกระตุ้นส่งออกที่วิกฤต เชื่อเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนยังไหลออกไปยาก แม้หุ้นไทย P/E 14 เท่าแล้ว แต่โอกาสดัชนีขึ้นเหนือ 1,320 จุดยังมองไม่เห็น
ตลาดหุ้นไทยวันนี้ (17 ต.ค.) รีบาวนด์กลับขึ้นมาอยู่ในแดนบวก โดยปิดที่ระดับ 1,301.28 จุด เพิ่มขึ้น 13.79 จุด หรือ 1.07% มูลค่าการซื้อขาย 38,029.30 ล้านบาท ระหว่างวันปรับตัวสูงสุดที่ระดับ 1,301.50 จุด และต่ำสุดที่ระดับ 1,290.30 จุด เคลื่อนไหวทิศทางเดียวกับตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคที่คลายความกังวลต่อวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน และได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
ขณะเดียวกันพบว่า สถาบันซื้อสุทธิ 945.24 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติ และบัญชีบริษัทจดทะเบียน (บล.) ที่ซื้อสุทธิ 556.41 ล้านบาท และ 93.19 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีเพียงนักลงทุนทั่วไปที่ขายสุทธิ 1,594.83 ล้านบาท
หลักทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงวานนี้ เพิ่มขึ้น 346 หลักทรัพย์ ลดลง 211 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 161 หลักทรัพย์ โดยหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ SCB มูลค่าการซื้อขาย 1,846.06 ล้านบาท ปิดที่ 165.00 บาท ลดลง 0.50 บาท ADVANC มูลค่าการซื้อขาย 1,725.32 ล้านบาท ปิดที่ 204.00 บาท เพิ่มขึ้น 9.00 บาท BBL มูลค่าการซื้อขาย 1,158.10 ล้านบาท ปิดที่ 189.00 บาท ลดลง 1.00 บาท PTTGC มูลค่าการซื้อขาย 1,142.77 ล้านบาท ปิดที่ 60.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.75 บาท และ PTT มูลค่าการซื้อขาย 1,088.74 ล้านบาท ปิดที่ 314.00 บาท เพิ่มขึ้น 3.00 บาท
นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า การที่ กนง.มีการปรับตัวอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง มาอยู่ที่ระดับ 2.75% จากเดิมที่ 3% เนื่องจากต้องการจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดการส่งออกมากขึ้นจากปัจจุบันที่ยอดการส่งออกติดลบ โดยเชื่อว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนั้นจะไม่ส่งผลกระทบทำให้เม็ดเงินต่างประเทศไหลออก เนื่องจากมองว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยที่ 2.75% ยังมีส่วนต่าง (สเปรด) ถึง 2.25% จากดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ 0.25% ดังนั้น ทำให้เม็ดเงินต่างประเทศยังคงไหลเข้ามาลงทุนระยะสั้นยังคงเข้ามาลงทุนตลาดหุ้นไทยอยู่ และยังได้รับผลตอบแทนค่าเงินบาทอีกด้วย
ทั้งนี้ ส่วนตัวคาดว่าเม็ดเงินลงทุนของต่างประเทศจะมีการซื้อสุทธิตราสารหนี้ปีหนี้อยู่ที่ประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท เพราะเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิขของสหรัฐฯ จากปัจจุบันที่ซื้อสุทธิ 2.9 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน นักลงทุนต่างประเทศถือครองตราสารหนี้ไทยอยู่จำนวน 7.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ตราสารหนี้ระยะยาวสัดส่วน 63% หรือประมาณ 4 แสนล้านบาท ส่วนอีก 27% นั้นถือตราสารหนี้ระยะสั้น
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะยาวเชื่อว่าจะจะอยู่ที่ 3.5% และมองว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในปีหน้าคงจะมีการปรับตัวลดลงไม่มากจากปีนี้ หากไม่มีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ในเรื่องวิกฤตยุโรป วิฤกตอเมริกา ฯลฯ
ด้าน นายสมจินต์ ศรไพศาล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศยังคงไหลเข้ามาลงทุนตลาดหุ้นไทยอยู่ และต่างชาติที่เข้ามาลงทุนแล้วเชื่อว่าจะไม่ไหลออก แม้ค่า P/E ตลาดหุ้นไทยจะอยู่ที่ 14 เท่า แต่หากมองในปีหน้าจะอยู่ที่ 12 เท่า จะมีผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ 3.5% ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ไม่แพง และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยมีการเติบโตที่ดี
ขณะที่ นายสมชาย เอนกทวีผล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้รีบาวนด์ขึ้นหลังพักตัวไป ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่รีบาวนด์ขึ้น หลังจากมีความคาดหวังว่าสเปนจะขอเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงิน และกรีซก็จะได้รับความช่วยเหลือต่อเนื่อง แต่จริงๆ ตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น ด้านสหรัฐฯ ก็มีการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทขนาดใหญ่ในช่วงหลังออกมาดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม มองว่า ตลาดฯ ยังคงรอปัจจัยใหม่เข้ามา และยังมีความคาดหวังกับการประชุมอียูในวันที่ 18-19 ต.ค.นี้ โดยเฉพาะความคืบหน้าของสเปน และกรีซ นอกจากนี้ ยังติดตามตัวเลขเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วยส่วนการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง.เป็นผลวกต่อหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เต็มๆ นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเช่าซื้อ และกลุ่มยานยนต์ด้วย
ทำให้แนวโน้มการลงทุนในวันพรุ่งนี้ (18 ต.ค.) ดัชนีคงจะแกว่งในกรอบหากยังไม่ผ่านแนว 1,302 จุด ดังนั้น นักลงทุนสามารถที่จะซื้อได้เมื่อราคาอ่อนตัวลง พร้อมให้แนวรับ 1,295-1,290 จุด แนวต้าน 1,302-1,315 จุด