xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย ประจำเดือนกันยายน 2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดยจิตจุฑา หวานชะเอม
ฝ่ายกำกับดูแล, สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
jitjutha@thaibma.or.th

ในเดือนกันยายน 2555 มีปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรอง รวมทั้งสิ้น 1.5.8 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 78,885 ล้านบาท ปรับตัวลดลงประมาณ 5% จากเดือนสิงหาคมที่มียอดซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 83,224 ล้านบาท ทั้งนี้มูลค่าการซื้อขายกว่า 17% เป็นการซื้อขายผ่านการฝากประมูล นอกจากนี้แล้วยังพบว่ากว่า 72% ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน (56,732 ล้านบาท) เป็นการซื้อขายในตราสารระยะสั้นที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี ในขณะที่อีกประมาณ 28% (22,153 ล้านบาท) เป็นการซื้อขายในตราสารที่มีอายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี

ทางด้านกลุ่มของนักลงทุนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายตราสารหนี้สูงที่สุด ยังคงเป็นกลุ่มของนักลงทุนประเภทบริษัทจัดการกองทุน (Asset Management Company: AMC) โดยมีมูลค่าการซื้อขายคิดเป็น 53% ของมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนทุกๆ ประเภทรวมกัน ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ (Foreign Investor) มีมูลค่าการซื้อขายรวม 227,343 ล้านบาท (คิดเป็นยอดซื้อสุทธิ 85,186 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 22% ของมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนทุกๆ ประเภทรวมกัน อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จะพบว่านักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าการซื้อขายรวม 96,700 ล้านบาท (คิดเป็นยอดซื้อสุทธิ 14,658 ล้านบาท) หรือคิดเป็น สัดส่วนประมาณ 41% ของนักลงทุนทั้งหมด

สำหรับผลตอบแทนตลาด (Return) เมื่อวัดจากดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Total Return Index) พบว่าปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมประมาณ 0.63% มาอยู่ที่ระดับ 216.00 จุด ในขณะที่ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond Total Return Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.02% มาอยู่ที่ระดับ 181.59 จุด แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบตั้งแต่ต้นปี จะพบว่าดัชนีของพันธบัตรรัฐบาล และดัชนีหุ้นกู้เอกชน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.74% และ 2.95% ตามลำดับ

ทางด้านภาพรวมของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ประจำเดือนเดือนกันยายน พบว่าอัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในทุกช่วงอายุของตราสาร โดยเฉพาะตราสารระกลางถึงยาว ที่ผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10 - 20 bp โดยเป็นผลมาจากปัจจัยหลัก 2 ประการคือ ประการแรก เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางของ US Treasury รวมถึงแรงขายจากนักลงทุนภายหลังศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันวินิจฉัยว่าการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) ไม่ขัดต่อกฎหมาย ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ เพื่อเข้าสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ประการที่สอง เกิดจากแรงขายเพื่อทำกำไรและปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อเตรียมประมูลพันธบัตร Benchmark รุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี

ที่เปิดประมูลในช่วงต้นเดือนและช่วงกลางเดือน ประกอบกับในช่วงต้นเดือน สำนักบริหารหนี้ กระทรวงการคลัง ได้จัดประชุมเกี่ยวกับแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2556 รวมทั้งสิ้นจำนวน 525,000 ล้านบาท ซึ่งในภาพรวมถือเป็นจำนวนที่มากขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้อัตราผลตอบแทนในพันธบัตรระยะกลางถึงยาวปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงเดือนกันยายน ได้แก่ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% และการปรับลดประมาณการณ์ GDP ของไทยโดยสำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.7% ลดเหลือ 5.5% ซึ่งต่ำกว่าระดับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ในขณะที่ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน ที่มีการประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งที่ 3 (QE3) ทำให้นักลงทุนคาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเซีย รวมถึงประเทศไทยมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น