ในช่วงที่สถานการณ์ต่างๆ รอบตัวเรามีความไม่แน่นอนสูงอย่างเช่นทุกวันนี้ ทั้งประเด็นของภาวะเศรษฐกิจ รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน การลงทุนในทางเลือกที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ เช่นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เริ่มเป็นที่สนใจสำหรับนักลงทุนมากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ผมมักจะได้รับคำถามจากนักลงทุนอยู่เสมอว่า หากต้องการจะลงทุนในตลาดตราสารหนี้แล้ว จะต้องพิจารณาและให้ความสำคัญในเรื่องใดบ้าง ดังนั้นในวันนี้ ผมจึงอยากจะขออนุญาตแบ่งปันถึงหัวข้อกว้างๆ ที่เราควรให้ความสำคัญก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในตราสารหนี้กันครับ
โดยสิ่งแรกที่นักลงทุนควรต้องพิจารณา คงหนีไม่พ้นในเรื่องของ “ความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้” ครับ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ตลาดหุ้น หรือแม้แต่ในสินทรัพย์ใดๆก็ตาม นักลงทุนจะต้องพบเจอกับความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น อาจแตกต่างกันตรงที่ว่าความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้ ดูเหมือนจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าความเสี่ยงจากการลงทุนในทางเลือกอื่นๆ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการลงทุนในตราสารหนี้จะไม่มีความเสี่ยงเลย เพราะหากเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน (Corporate Bond) นักลงทุนจะพบกับความเสี่ยงที่บริษัทผู้ออกตราสารหนี้ อาจประสบกับปัญหาทางการเงินจนทำให้ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ย หรือชำระเงินต้นคืนตามเวลาที่กำหนดเอาไว้ (Default Risk) หรือหากเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ (ทั้งภาครัฐ และเอกชน) ที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างยาว ความเสี่ยงจากการลงทุนจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุคงเหลือที่ยาวขึ้น เพราะคงไม่มีใครสามารถรับประกันถึงอนาคตในระยะยาวได้ว่า จะไม่มีเหตุการณ์ใดๆ ที่จะส่งผลต่อความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและชำระเงินต้นของผู้ออกตราสารหนี้ ดังนั้นหากเป็นนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อย การลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล (Government Bond) จึงน่าจะมีความเหมาะสมมากกว่า แต่สำหรับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูงกว่า การลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจครับ
สิ่งสำคัญลำดับถัดมาที่ควรต้องพิจารณา คือเรื่อง “อายุของนักลงทุน และช่วงของระยะเวลาที่สามารถทำการลงทุน” เนื่องจากนักลงทุนที่มีอายุน้อย และมีความตั้งใจที่จะลงทุนในระยะยาว ย่อมมีความได้เปรียบและมีทางเลือกมากกว่า นักลงทุนที่มีอายุมากขึ้นและสามารถลงทุนได้ในช่วงระยะเวลาที่สั้นกว่า ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการลงทุนของนักลงทุนที่อายุยังน้อย ควรจะเน้นไปในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น (แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่ไม่สูงจนเกินไป) เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนของบริษัที่มีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment Grade) หรือความน่าเชื่อตั้งแต่ระดับ BBB ขึ้นไป ในทางตรงกันข้ามกับนักลงทุนที่อายุมาก และสามารถลงทุนได้เพียงช่วงระยะเวลาไม่ยาวมากนัก ควรจะเน้นไปในตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล (หรือรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกัน) ที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างสั้นเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการลงทุนในแนวทางนี้จะต้องได้รับผลตอบแทนน้อยตามระยะเวลาของการลงทุนเสมอไป เพราะหากถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนแล้วนักลงทุนยังมีความต้องการที่จะลงทุนในตราสารหนี้ต่อไป ก็ยังสามารถนำเงินต้น + ดอกเบี้ยที่ได้รับมาทั้งหมดไปลงทุนในตราสารหนี้รุ่นอื่นๆ (Re-Invest) ได้อีกเรื่อยๆ เช่นกัน
และประเด็นสำคัญอีกข้อที่นักลงทุนไม่ควรมองข้ามคือ “ความเป็นไปได้ที่จะต้องใช้เงินในช่วงที่ทำการลงทุน” เนื่องจากการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย ณ ปัจจุบัน ยังคงมีปัญหาในเรื่องสภาพคล่อง (Liquidity) ของการซื้อขายอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างยาว การขายตราสารเหล่านี้เพื่อเปลี่ยนกลับเป็นเงินสดอย่างเร่งด่วน ยังเป็นไปได้ค่อนข้างลำบาก นอกจากนี้แล้ว นักลงทุนอาจต้องทำใจยอมรับกับราคาขายที่อาจถูกกดให้ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น (Fair Value) อีกด้วย ซึ่งอย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากทั้ง 3 ประเด็นที่ผมยกตัวอย่างมาแล้วนั้น ยังคงมีประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ ที่นักลงทุนต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุนอีก การศึกษาข้อมูลต่างๆอย่างละเอียดรวมถึงการตัดสินใจอย่างรอบคอบ นอกจากจะช่วยสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ให้สูงขึ้นแล้ว ยังช่วยทำให้การลงทุนในตราสารหนี้มีความปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วยครับ
โดยสุชาติ ธนฐิติพันธ์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th