xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย เดือนกรกฏาคม 2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในเดือนกรกฎาคม 2555 มีปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้รวมทั้งสิ้น 1.99 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยที่ประมาณ 90,725 ล้านบาทต่อวัน คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% จากในเดือนมิถุนายนที่มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยที่ประมาณวันละ 82,447 ล้านบาท ทั้งนี้มูลค่าการซื้อขายกว่า 16% ของมูลค่าทั้งหมด เป็นยอดการซื้อขายจากการฝากประมูล นอกจากนี้แล้วยังพบว่ากว่า 68% ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน (ประมาณ 61,840 ล้านบาท) เป็นการซื้อขายในตราสารระยะสั้นที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี ในขณะที่อีกประมาณ 32% (28,890 ล้านบาท) เป็นการซื้อขายในตราสารที่มีอายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี

ทางด้านกลุ่มของนักลงทุนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายตราสารหนี้สูงที่สุด ยังคงเป็นกลุ่มของนักลงทุนประเภทบริษัทจัดการกองทุน (Asset Management Company: AMC) โดยมีมูลค่าการซื้อขายคิดเป็น 53% ของนักลงทุนทุกๆ ประเภทรวมกัน ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ (Foreign Investor) มีมูลค่าการซื้อขายรวม 267,535 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22% ของมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนทุกๆ ประเภทรวมกัน) หรือคิดเป็นยอดซื้อสุทธิประมาณ 61,450 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากไม่นับรวมการซื้อขายตราสารระยะสั้นที่มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนซ้ำ: Roll Over ไปเรื่อยๆ) จะพบว่านักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าของการซื้อและขายรวมกัน 148,400 ล้านบาท หรือคิดเป็นยอดซื้อสุทธิ 29,800 ล้านบาท

สำหรับผลตอบแทน (Return) ของการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในเดือนกรกฏาคม (เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน: Month on Month) โดยวัดจากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Index) พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.95% มาอยู่ที่ระดับ 217.44 จุด และหากพิจารณานับตั้งแต่ต้นปี (Year to Date) พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.53% ในขณะที่ผลตอบแทนสำหรับการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนในเดือนกรกฏาคม พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.79% (Month on Month) และเพิ่มขึ้น 2.08% (Year to Date) ตามลำดับ

ทางด้านการเคลื่อนไหวของของเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ในเดือนกรกฎาคม พบว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงในทุกๆช่วงอายุ หรือปรับตัวลดลงโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 25 bp. (100 bp มีค่าเท่ากับ 1%) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับพันธบัตรที่มีอายุคงเหลือประมาณ 14 – 16 ปี อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงกว่า 40 bp. โดยการลดลงของอัตราผลตอบแทนในเดือนกรกฏาคมนี้ มีผลมาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เริ่มจากการการประมูลพันธบัตรัฐบาลรุ่นอายุ 10 และ 20 ปีของไทย ในช่วงต้นเดือน ที่มีนักลงทุนให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลให้อัตราผลตอบแทนในการประมูลปรับตัวลดลง (ราคาเพิ่มขึ้น) ประกอบในช่วงปลายเดือน คณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3% ต่อไป ด้วยเหตุผลที่แสดงถึงความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย มีผลทำให้นักลงทุนย้ายเงินลงทุนเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้มากขึ้น

ขณะที่ปัจจัยภายนอก ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้ในกลุ่มยูโรโซน และความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นประเด็นหลักที่มีผลต่อตลาดตราสารหนี้ไทยรวมถึงประเทศอื่นๆทั่วโลกต่อไป หลังจากที่ปัญหาของประเทศในกลุ่มยูโรโซนยังคงทีทีท่าว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา ประกอบกับความผิดหวังของนักลงทุน หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ไม่ได้มีมาตรการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของตนเอง อย่างเช่นมาตรการ QE3 ที่นักลงทุนเคยคาดการณ์เอาไว้ ทั้งหมดนี้ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลในทิศทางของการฟื้นตัวว่าน่าจะต้องใช้ระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนาน และอาจมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวจากผลกระทบดังกล่าว จึงมีผลทำให้เกิดการโยกย้ายเงินลงทุนเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้มากขึ้น และทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ปรับตัวลดลง (ราคาตราสารหนี้เพิ่มขึ้น) ในที่สุด

จิตจุฑา หวานชะเอม
ฝ่ายกำกับดูแล, สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
jitjutha@thaibma.or.th


กำลังโหลดความคิดเห็น