โดย จิตจุฑา หวานชะเอม
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
jitjutha@thaibma.or.th
ในเดือนมิถุนายน 2555 มีปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองรวมทั้งสิ้น 1.65 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 82,447 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 5.49% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมที่มียอดซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 87,235 ล้านบาท ทั้งนี้มูลค่าการซื้อขายกว่า 17% เป็นยอดการซื้อขายจากการฝากประมูล นอกจากนี้แล้วยังพบว่ากว่า 74% ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน (ประมาณ 61,000 ล้านบาท) เป็นการซื้อขายในตราสารระยะสั้นที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี ในขณะที่อีกประมาณ 26% (21,525 ล้านบาท) เป็นการซื้อขายในตราสารที่มีอายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี
ทางด้านกลุ่มของนักลงทุนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายตราสารหนี้สูงที่สุด ยังคงเป็นกลุ่มของนักลงทุนประเภทบริษัทจัดการกองทุน (Asset Management Company: AMC) โดยมีมูลค่าการซื้อขายคิดเป็น 54% ของมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนทุกๆ ประเภทรวมกัน ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ (Foreign Investor) มีมูลค่าการซื้อขายรวม 220,143 ล้านบาท หรือคิดเป็น 21% ของมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนทุกๆ ประเภทรวมกัน ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิประมาณ 102,754 ล้านบาท (แต่หากนับเฉพาะการซื้อสุทธิในตราสารที่มีอายุมากกว่า 1 ปี พบว่ามีค่าเท่ากับ 48,466 ล้านบาท) ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จะพบว่านักลงทุนต่างชาติ ถือเป็นนักลงทุนกลุ่มที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด หรือมีสัดส่วนประมาณ 45% ของนักลงทุนทั้งหมด
สำหรับผลตอบแทนตลาดเมื่อวัดจากดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Total Return Index) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.27% จาก ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม มาอยู่ที่ระดับ 213.29 จุด โดยคิดเป็นผลตอบแทนนับจากต้นปี (year to date) ลดงลงเท่ากับ 0.41% ส่วนดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond Total Return Index) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.68% จาก ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม มาอยู่ที่ระดับ 179.60 จุด โดยคิดเป็นผลตอบแทนนับจากต้นปี (year to date) เพิ่มขึ้นเท่ากับ 1.28%
ทางด้านภาพรวมของเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ในเดือนมิถุนายน พบว่าเส้นอัตราผลตอบแทนในตลาดปรับตัวลดลง ในทุกช่วงอายุตราสารหนี้ หรือลดลงในช่วงประมาณ -10 ถึง -18 bps. ซึ่งสามารถสรุปถึงปัจจัยที่มีผลทำให้อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้เปลี่ยนแปลงไป ได้ดังนี้
ปัจจัยแรก คือเรื่องของผลการประชุม กนง. ในวันที่ 13 มิถุนายน ที่มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.00% ทำให้ตลาดมีมุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความมั่นใจพร้อมที่จะเสริมสภาพคล่องและการดำเนินนโยบายแบบผ่อนปรนเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ด้วยปัจจัยนี้ มีผลช่วยดึงให้อัตราผลตอบแทนไม่ปรับตัวลดลงไปมากนัก
ในขณะที่ปัจจัยถัดมา คือเรื่องของนักลงทุนต่างชาติที่มีแรงซื้อเพื่อปรับพอร์ตการลงทุนโดยเฉพาะในพันธบัตรระยะกลางและระยะยาว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลง รวมถึงปัจจัยเชิงบวกกรณีที่ประเทศสเปนได้รับเงินช่วยเหลือจาก EU ในวงเงินที่สูงกว่าที่คาดไว้ ทำให้มีการทยอยเข้าซื้อพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น แรงซื้อดังกล่าวมีผลทำให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงค่อนข้างแรง
โดยในช่วงเดือนกรกฏาคมนี้ มีปัจจัยที่ตลาดยังคงติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้แก่ (1) กรณีปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรปและเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าต้องใช้เวลาในการออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหา (2) กรณีของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ยังไม่มีการออกมาตรการใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีมาตรการใดออกมาใหม่หรือไม่ และ (3) การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารสหรัฐและยุโรป โดย Moody’s ว่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากน้อยเพียงใด