xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดตราสารหนี้เดือนพฤษภาคม ยังคงได้รับแรงกดดันจากวิกฤติหนี้ฯ ในยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในเดือนพฤษภาคม 2555 มีปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรอง รวมทั้งสิ้น 1.83 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 87,235 ล้านบาท หรือลดลง 10.14% จากเดือนเมษายนที่มียอดซื้อขายเฉลี่ยวันละ 97,080 ล้านบาท โดยพบว่ากว่า 78% ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน (68,434 ล้านบาท) เป็นการซื้อขายในตราสารระยะสั้นที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี ในขณะที่อีกประมาณ 22% (18,798 ล้านบาท) เป็นการซื้อขายในตราสารที่มีอายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี

ทางด้านกลุ่มของนักลงทุนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายตราสารหนี้สูงที่สุด ยังคงเป็นกลุ่มของนักลงทุนประเภทบริษัทจัดการกองทุน (Asset Management Company: AMC) โดยมีมูลค่าการซื้อขายคิดเป็น 55% ของมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนทุกๆ ประเภทรวมกัน ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ (Foreign Investor) มีมูลค่าการซื้อขายรวม 218,199 ล้านบาท หรือคิดเป็นยอดซื้อสุทธิประมาณ 41,410 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 19% ของมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนทุกๆ ประเภทรวมกัน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในพันธบัตรรัฐบาลอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป นักลงทุนที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดคือกลุ่มของนักลงทุนต่างชาติ โดยมีสัดส่วนประมาณ 52% ของนักลงทุนทั้งหมด

สำหรับผลตอบแทนตลาดเมื่อวัดจากดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Total Return Index) พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น (month on month) 0.61% มาอยู่ที่ระดับ 210.62 จุด แต่หากพิจารณานับตั้งแต่ต้นปี (year to date) กลับพบว่าปรับตัวลดลง 1.65% ส่วนดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corporate Bond Total Return Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้น (month on month) 0.55% มาอยู่ที่ระดับ 178.38 จุด และหากพิจารณานับตั้งแต่ต้นปี (year to date) พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นเท่ากับ 0.59%

ทางด้านความเคลื่อนไหวของเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ในเดือนพฤษภาคม พบว่าอัตราผลตอบแทนในตลาดค่อนข้างผันผวน โดยในช่วงครึ่งเดือนแรก Yield มีแนวโน้มลดลง และปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนจากแรงขายของนักลงทุน ในขณะที่ช่วงปลายเดือน Yield ในตลาดพลิกกลับมาปรับตัวลดลงอีก ทำให้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เส้นอัตราผลตอบแทนลดลงประมาณ 1-8 bps. ในทุกช่วงอายุตราสารหนี้ โดยสามารถสรุปถึงปัจจัยที่มีผลทำให้อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้เปลี่ยนแปลงไป ได้เป็น 3 ประเด็นหลักๆ คือ

ประการแรก ปัจจัยที่ทำให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงนั้นส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวลดลงตามทิศทางของ Interest Rate Swap และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐซึ่งมาจากความผันผวนในยุโรป ประการที่สอง เนื่องจากมีแรงซื้อจากนักลงทุนโดยเฉพาะจากกลุ่มผู้สมัครคัดเลือกเป็น Primary Dealer (PD) ในพันธบัตรรุ่น Benchmark ประกอบกับความเห็นของของ ธปท. ว่าเงินเฟ้อน่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายและยังมีช่องว่างในการใช้นโยบายการเงินโดยการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในพันธบัตรระยะกลางถึงยาวมากขึ้น และประการสุดท้าย เป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งเดือนหลัง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มมีแรงขายในพันธบัตรอายุ 1ปี - 5 ปี จากความกังวลปัญหาหนี้ยุโรป ซึ่งคาดว่าทำให้เงินลงทุนส่วนหนึ่งไหลกลับเข้าไปลงทุนในพันธบัตรสหรัฐซึ่งสอดคล้องกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

โดยประเด็นข่าวที่นักลงทุนในตลาดให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดทั้งเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คือ ประเด็นของผลการประชุมกนง. ในวันที่ 2 พ.ค. ที่มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประเด็นของผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1% ต่อไป และประเด็นของผลการประชุม EU Submit ที่ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนสำหรับรองรับการแก้ปัญหาวิกฤติหนี้ของประเทศกรีซและยูโรโซน ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดตราสารหนี้

จิตจุฑา หวานชะเอม
ฝ่ายกำกับดูแล
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
jitjutha@thaibma.or.th, 02-252-3336 Ext.312
กำลังโหลดความคิดเห็น