รอยเตอร์ -กระทรวงการคลังสหรัฐฯ อนุญาตให้ธนาคารกลางจีนเข้าซื้อพันธบัตรได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงินในตลาดวอลล์สตรีต นับเป็นการเปิดไฟเขียวให้รัฐบาลต่างชาติรายแรกเท่าที่เคยมีมา
จากเอกสาร ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์มีโอกาสตรวจสอบพบว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ให้ธนาคารกลางจีนเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับระบบการประมูลซื้อพันธบัตรได้โดยตรง ซึ่งจีนได้ใช้เป็นครั้งแรกในการซื้อพันธบัตรอายุการไถ่ถอน 2 ปีของกระทรวงการคลังมะกันเมื่อปลายเดือนมิ.ย. 2554
ดังนั้น ในปัจจุบันจีน ซึ่งถือครองพันธบัตรสหรัฐฯอยู่แล้วจำนวน 1.17 ล้านล้านดอลลาร์ จึงสามารถประมูลซื้อพันธบัตรแดนลุงแซมได้โดยไม่ต้องผ่านธนาคารรายใหญ่ในตลาดวอลล์สตรีต ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯกำหนดให้เป็นไพรมารีดีลเลอร์ในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนเข้าประมูลซื้อ
การอนุญาตครั้งนี้จึงเท่ากับว่าจีนได้รับสิทธิพิเศษ แตกต่างจากธนาคารกลางอื่น ๆ ในโลก เช่นธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งมีความต้องการเข้าลงทุนในพันธบัตรอย่างมาก โดยธนาคารกลางของชาติอื่นยังต้องประมูลซื้อผ่านไพรมารีดีลเลอร์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากจีนต้องการขายพันธบัตรก็ยังต้องทำผ่านตลาดวอลล์สตรีตเหมือนเดิม
การเปลี่ยนแปลงวิธีการประมูลซื้อพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ของจีนมิได้มีการประกาศอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน หรือมีการแจ้งไปยังเหล่าไพรมารีดีลเลอร์แต่อย่างใด
สิทธิพิเศษนี้อาจช่วยให้จีนซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ได้ในราคา ที่น่าพอใจขึ้น โดยการประมูลซื้อโดยตรงทำให้จีนสามารถปกปิดข้อมูลในคำสั่งซื้อ เพื่อให้ธนาคารในวอลล์สตรีตล่วงรู้ได้น้อยที่สุด เพราะธนาคารเหล่านี้พยายามฉกฉวยผลประโยชน์จากการประมูลซื้อพันธบัตรคราวละมาก ๆ ของจีนด้วยการผลักดันให้ราคาสูงขึ้น
นอกจากนั้น จีนยังพยายามระวังรักษาข้อมูลเกี่ยวกับนิสัยในการประมุลซื้อพันธบัตรของตนเป็นความลับอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 เมื่อเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ พบว่า จีนกำลังทำข้อตกลงพิเศษกับไพรมารีดีลเลอร์ เพื่อปกปิดการซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ กระทรวงการคลังจึงเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ เพื่อให้ข้อตกลงเหล่านั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ผ่อนคลายข้อบังคับในการรายงานเกี่ยวกับการซื้อขาย เพื่อให้ฝ่ายจีนพอใจ
ในขณะที่ข่าวการอนุญาตให้จีนเข้าประมูลซื้อพันธบัตรโดยตรงเริ่มเป็นที่ทราบกันทั่วไป และรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องตอบคำถามมากมายจากเทรดเดอร์ในตลาดวอลล์สตรีต การให้สิทธิพิเศษดังกล่าวยังอาจเปิดประเด็นถกเถียงโต้แย้งขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลสหรัฐฯ บางคนวิตกว่า การถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ จำนวนมากทำให้จีนมีอำนาจในการงัดข้อกับสหรัฐฯ มากเกินไปแล้ว
นายแบร็ด เซ็ตเซอร์ นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นสมาชิกในสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ และทำงานในสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า การถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ มหาศาลของจีนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ
เซ็ตเซอร์ได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศในปี2552 ว่า การถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ อย่างมากมายทำให้จีนมีอำนาจเหนือนโยบายของสหรัฐฯ โดยจีนสามารถขู่สหรัฐฯ ได้ว่าจะเทขายพันธบัตร ซึ่งอาจสร้างความแตกตื่นในตลาดและผลักดันอัตราผลตอบแทนให้สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังยืนยันว่า การขายพันธบัตรสหรัฐฯ แก่จีนถูกแยกเป็นคนละเรื่องกับการเมือง แต่เป็นความสัมพันธ์ด้านธุรกิจ ซึ่งให้ผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยจีนใช้พันธบัตรสหรัฐฯเป็นที่พักสำหรับเงินดอลลาร์ ซึ่งได้มาจากการขายสินค้าให้สหรัฐฯ ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็พอใจ ที่เห็นความต้องการซื้อพันธบัตรของตนอย่างแข็งแกร่งเช่นนี้ เพราะทำให้สหรัฐฯ รักษาอัตราผลตอบแทนในระดับต่ำไว้ได้
อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารจัดการพันธบัตรของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ผู้หนึ่งระบุว่า ประสบการณ์ของจีนในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ นับวันจะล้ำลึก เจ้าหน้าที่จีนอาจรู้สึกว่าสะดวกมากขึ้น ที่ได้ควบคุมการบริหารจัดการพันธบัตรที่ตนเองถือครอง
อดีตเจ้าหน้าที่ผู้นี้มองว่า การขอเข้าประมูลซื้อพันธบัตรโดยตรงของจีนเกิดจากความมั่นใจว่าผู้จัดการกองทุนของจีนสามารถซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าทำผ่านทางธนาคารในตลาดวอลล์สตรีต ซึ่งอาจผลักดันให้ราคาพันธบัตรสูงขึ้นในการประมูล หากได้ธนาคารทราบข้อมูลว่าลูกค้ารายใหญ่ของตนเต็มใจจ่ายเงินเพื่อซื้อพันธบัตรมากขนาดไหน
หลักฐาน ที่ยืนยันถึงความเชี่ยวชาญ ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นในการเป็นผู้จัดการกองทุนของจีนในตลาดสหรัฐฯ เห็นได้ชัดเจนจากการขยายการดำเนินกิจการในนครนิวยอร์ก โดยสำนักปริวรรตเงินตรา (SAFE) ซึ่งทำหน้าที่บริหารทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีนได้เปิดสำนักงานในเขตมิดทาวน์แมนฮัตตัน นอกจากนั้น ยังมีหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน ซึ่งมีประสบการณ์เชี่ยวชาญอยู่ในกรุงปักกิ่งอีกด้วย