โดยพอพิศ ยอดแสง
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
porpit@thaibma.or.th, 02-252-3336 Ext.114
สำหรับกรณีของประเทศกรีซนั้น เป็นที่แน่นอนแล้วว่ากรีซไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา และประกาศให้มีการเลือกตั้งรอบใหม่อีกครั้งในวันที่ 17 มิ.ย ที่จะถึงนี้ ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนวิตกและกังวลคือมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลที่จะได้รับการเลือกจากประชาชนในการเลือกตั้งรอบใหม่นี้ จะยังคงเป็นพรรคการเมืองเดิมที่ชูนโยบายต่อต้านการรัดเข็มขัด และไม่ต้องการปฏิบัติตามเงื่อนไขตามสัญญาการกู้ยืมเงิน ด้วยการยกเลิกสัญญาในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่ทำไว้กับ EU และIMF ดังนั้นปัญหาวิกฤตการทางการเงินของกรีซ อาจหาข้อสรุปไม่ได้จนกลายเป็นปัญหาการเมืองและสังคมในที่สุด และถ้าหากกรีซไม่สามารถทำตามข้อตกลงเรื่องการควบคุมงบประมาณเพื่อแลกกับการรับเงินช่วยเหลือจากข้อตกลงที่ทำกับ EU เพิ่มเติม ก็อาจทำให้กรีกต้องออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซนในที่สุด
ภาพประชาชนยืนเข้าแถวรอถอนเงินจากหน้าธนาคารยาวเหยียดทั้งใน กรีก อิตาลี สเปน สร้างความตื่นตระหนก และตอกย้ำความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอียู จนส่งผลกระทบต่อภาคการเงินการธนาคารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาวิกฤตทางการเงินที่ลุกลามในยุโรปกลายเป็นปัญหาต่อความน่าเชื่อถือของสกุลเงินยูโร ซึ่งไม่ได้มีแค่ประเทศกรีซที่ประสบกับปัญหาความน่าเชื่อถือ แต่ประเทศสเปน ก็ถูกมูดี้ส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส ปรับลดความน่าเชื่อถือธนาคารสเปนจากปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL จากการปล่อยสินเชื่อในอสังหริมทรัพย์ของภาคธนาคาร จนรัฐบาลต้องเข้ามาถือหุ้นธนาคารแบงเกียซึ่งถือว่าเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 4 ของประเทศสเปนอีกทั้งอัตราผลตอบแทนการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสเปนอายุ 10 ปีเมื่อวันที่ 16 พ.ค.มีต้นทุนสูงขึ้น ถึง 6.46% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากในขณะที่สเปนก็ยังต้องระดมทุนด้วยการประมูลพันธบัตรรอบใหม่อีก
ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบในแง่ของจิตวิทยาบ้าง แต่เนื่องจากภาพรวมในตลาดของเรายังมีแนวโน้มค่อนข้างดี ประกอบกับบทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่ผ่านมา ทำให้ภาครัฐมีกฏระเบียบที่เข้มงวดต่อการทำธุรกรรมของสถาบันและนักลงทุน โดยเฉพาะธุรกรรมที่ซับซ้อนและยากต่อการประเมินความเสี่ยง ทำให้ที่ผ่านมาเราได้รับผลกระทบไม่มากนักและจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ทำให้นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่อยู่ในประเทศต่างๆอย่างในประเทศแถบเอเซีย ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น หรือตลาดตราสารหนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดตราสารหนี้ไทยนั้น ถึงแม้ว่าจะมีเม็ดเงินของนักลงทุนต่างประเทศขายตราสารหนี้ออกมาบ้างในช่วงนี้ แต่หากดูตัวเลขสถานะการซื้อขายสุทธิในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่านักลงทุนต่างประเทศยังคงมีสถานะซื้อสุทธิกว่า 4,000 ล้านบาท ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ตราสารอายุ 3-10 ปีของไทยยังคงปรับตัวลดลงประมาณ 6 ถึง 10 bp
เช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวลดลงในทุกช่วงอายุโดยเฉพาะในตราสารอายุ 10 ปีที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเกือบ20 bp ทั้งนี้ ทิศทางการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในบ้านเราจะเป็นเช่นไรนั้น ยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตาต่อไป แต่ความกังวลที่ว่านักลงทุนต่างประเทศจะเทขาย และทำให้อัตราผลตอบแทนบ้านเราปรับตัวเพิ่มขึ้นไปมากนั้น จากตัวเลขและสถานะการณ์ความเคลื่อนไหว
ในปัจจุบัน เรายังไม่พบว่าตลาดตราสารหนี้บ้านเราได้รับกระทบในลักษณะดังกล่าว