xs
xsm
sm
md
lg

จับตาQE3หากสหรัฐฯยังไม่ฟื้น ดันเงินลงทุนไหลเข้าตราสารหนี้เพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศุภกร สุนทรกิจ
บลจ. เกียรตินาคิน ชี้ กระแสเงินไหลเข้าตราสารหนี้จำนวนมาก สินทรัพย์ปลอดภัยทองคำไม่เคลื่อนไหวจับตา QE3 อาจเกิดหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตด้วยตนเองไม่ได้ ทางด้านบลจ.ไทยพาณิชย์มองนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่กังวลแม้ตลาดตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนน้อย ขอเพียงรักษาเงินต้นเอาไว้ได้เป็นพอ

นาย ศุภกร สุนทรกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เกียรตินาคิน จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นของสหรัฐฯก่อนหน้านี้ได้ปรับตัวขึ้นมาในช่วงระยะก่อนหน้านี้ เพราะคาดว่าสหรัฐฯอาจจะออกมาตการ QE3 ออกมาอีก แต่การออกQE3 ก็ยังคงต้องดูสถานการณ์ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะบางช่วงตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังมีทั้งที่ออกมาดีและไม่ดีนัก ซึ่งหากเศรษฐกิจมีการเติบโตได้ด้วยตนเอง QE3 ก็คงไม่เกิด

ทั้งนี้ปัจจุบันเงินลงทุนไหลเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้มากเพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูง ขณะเดียวกันสินทรัพย์อย่างทองคำ จึงไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากรวมถึง กองทุนเปิดเคเค โกลด์ ทาร์เก็ต 7%#1 ที่เพิ่งออกไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนยังไม่ถึงเป้าซึ่งหากครบกำหนดอายุแล้วผลตอบแทนยังไม่ถึงเป้า ก็จะเปลี่ยกองทุนให้เป็นกองทุนเปิดตามปกติ

ขณะเดียวกันมองอัตราเบี้ยของไทยว่า หากอัตราดอกเบี้ยของประเทศเพื่อบ้านปรับตัวลง เราอาจต้องปรับตัวลดตามเพราะอาจจะกระทบต่อการส่งออกได้ ส่วนตลาดหุ้นไทยยังมีการแกว่งตัว โดยมองเป้าดัชนีหุ้นไทยครึ่งปีสูงสุดที่ระดับ 1,285 จุด สำหรับบลจ.เกียรตินาคิน อยู่ในระหว่างการเปิดขาย กองทุนเปิดเคเค สะสมทรัพย์คุ้มครองเงินต้น 1 เดือน, 3 เดือน และ 6 เดือน ถึงวันที่ 31 ก.ค. 2555 ชูผลตอบแทนประมาณ 2.60% 2.70% และ 2.80% ตามลำดับ

ทางด้านรายงานข่าวจาก บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยถึงสภาวะการลงทุนในตราสารหนี้ท่ามกลางวิกฤติหนี้ในยุโรปและสหรัฐฯว่า อัตราดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอยู่ในระดับต่ำมาก รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถกู้ยืมเงินจากตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นในอัตรา 0 - 0.25% รัฐบาลเยอรมนีสามารถระดมเงินทุนด้วยการออกพันธบัตรอายุ 2 ปี ด้วยต้นทุนต่ำกว่า 25 สตางค์ หรือพันธบัตรอังกฤษอายุ 10 ปี ที่ให้อัตราผลตอบแทนไม่ถึง 2% แต่กองทุนตราสารหนี้ทั่วโลกปีนี้มียอดซื้อสุทธิ อยู่ที่ 190 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่กองทุนประเภทอื่น ๆ มียอดขายสุทธิ 1.34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินลงทุนมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้พากันวิ่งเข้ากองทุนตราสารหนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2552

อย่างไรก็ตามนักลงทุนไม่ได้สนใจว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะติดลบ แต่สนใจที่ความปลอดภัยของเงินลงทุนเป็นสำคัญ การรักษาเงินต้นไว้มีความสำคัญกว่าการที่จะต้องเสี่ยงให้ได้ผลตอบแทนจากเงินต้นที่ลงทุนไป เงินกว่า 130 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไหลออกจากสเปนในไตรมาสที่ 1/2555 เพราะนักลงทุนในประเทศกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของธนาคารท้องถิ่น โอกาสที่รัฐบาลประเทศตนจะผิดนัดชำระหนี้ และความเสี่ยงที่ประเทศของตนจะต้องออกจากการใช้เงินสกุลยูโร ชาวกรีกกังวลว่าเงินออมในธนาคารของตนจะด้อยค่าลงกว่า 40% หากต้องเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินดรัคม่า (Drachmas) สกุลเงินเดิมของกรีซแทนสกุลเงินยูโร ดังนั้น การย้ายเงินไปฝากไว้กับพันธบัตรรัฐบาลของเยอรมัน แม้จะมีผลตอบแทนระดับต่ำมากใกล้เคียงศูนย์ แต่ยังดูเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยมากกว่า

โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ระดับต่ำแบบนี้ มักพบในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะเมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ความต้องการถือครองพันธบัตรของนักลงทุนมักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ราคาพันธบัตรรัฐบาลจึงปรับตัวสูงขึ้น ทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรลดลง สาเหตุมาจาก ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องที่นักลงทุนในพันธบัตรต้องกังวล และผลประกอบการของธุรกิจมีแนวโน้มขาดทุนในภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ นักลงทุนจึงมักหนีจากการลงทุนในตลาดตราสารทุนเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ หลายครั้งในภาวะดังกล่าว นักลงทุนมัวกังวลถึงแต่ความปลอดภัยของเงินลงทุน จนลืมนึกถึงความสามารถในการชำระหนี้ในระยะยาวของภาครัฐ Treasury bill เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องมากที่สุดในโลก นักลงทุนรู้ว่าจะสามารถหาตลาดรองเพื่อขายแลกเปลี่ยนได้ทันทีเมื่อต้องการ โดยราคาไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ดังนั้น เมื่อสถานการณ์เริ่มไม่ค่อยดี Treasury bill จึงเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนสนใจ แม้กระทั่งช่วงที่มีข่าวร้ายเกี่ยวกับสถานะการเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ลงจาก AAA ในเดือนสิงหาคม 2554 อัตราผลตอบแทนของ U.S. Treasury bill ยังปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศมุ่งดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับใกล้เคียงศูนย์ เป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำ เฟดและธนาคารกลางอังกฤษได้ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลด้วยเงินที่สร้างขึ้นใหม่ และเฟดได้ดำเนินการต่อเนื่องด้วยมาตรการ Operation Twist ซึ่งเป็นนโยบายที่สับเปลี่ยนการถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นกับระยะยาว เพื่อวัตถุประสงค์ให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะยาวลดลง และเฟดยังได้ส่งสัญญาณที่จะคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นให้อยู่ในระดับต่ำ 0 - 0.25% ต่อเนื่องไปอีก 2 - 3 ปี หรือจนถึงปลายปี 2557 ยิ่งเป็นการกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดต่ำลงมากขึ้น

ทั้งนี้อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ ข้อบังคับที่กำหนดให้ธนาคารกลาง ธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันภัยต้องถือครองพันธบัตรรัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรอง เพื่อรักษาสัดส่วนสภาพคล่องตามเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้เป้าหมายการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนกลุ่มนี้มุ่งเน้นเพียงเพื่อรักษาสภาพคล่อง หรือบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น โดยไม่ได้สนใจว่าอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนดังกล่าวจะต่ำมากเพียงใด ซึ่งในกรณีนี้ Treasury bill ยังเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รวมถึงการที่กองทุนบำเหน็จบำนาญต้องเพิ่มการลงทุนในพันธบัตร เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น โดยเน้นว่าเมื่อสมาชิกเกษียณจะต้องได้รับรายได้ที่สม่ำเสมอและแน่นอน ส่งผลให้อุปสงค์ต่อพันธบัตรในปัจจุบันยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หากเราลองรวมการลงทุนของธนาคารกลางทั่วโลก ธนาคารกลางท้องถิ่น สถาบันการเงินต่าง ๆ และกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของอังกฤษและสหรัฐฯ จะพบว่าส่วนมากเป็นผู้ลงทุนประเภทไม่สนใจผลตอบแทนที่ระดับต่ำทั้งสิ้น การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันจึงถือเป็นช่วงที่มีเสถียรภาพมากกว่าที่เคยเป็นในหลายปีที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น