ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ปัญหาหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศยุโรป ได้กลายเป็น “วิกฤติการณ์ทางการเงิน” ของกลุ่มยูโรโซนไปเสียแล้ว
ทำให้ความไม่มั่นใจทางด้านการเงิน โดยเฉพาะเสถียรภาพทางการเงินของยูโรโซนเริ่มมีปัญหา
แม้หลายคนจะเชื่อว่า เป็นไปไม่ได้ที่ “ยูโรโซน” การรวมกลุ่มทางการเงินแห่งแรกของโลก จะถึงคราวล้มลง
แต่ความไม่มั่นใจที่เกิดขึ้น ได้ทำให้ต้นทุนทางการเงินของประเทศยุโรปมีสูงขึ้น
เป็นเหตุให้บรรดาผู้นำยุโรปจะหารือเกี่ยวกับการจัดตั้ง “สหภาพการธนาคารของกลุ่มยูโรโซน” ที่เปิดทางให้มีการจัดตั้งหน่วยงานส่วนกลางรับผิดชอบการปรับโครงสร้างภาคธนาคารในยุโรป ที่ประสบกับวิกฤตการเงินแทนรัฐบาลประเทศนั้นๆ ประกอบกับการเปิดทางให้มีการรับประกันเงินฝากทั่วยุโรป
นั่นหมายความว่า “ภาคธนาคาร” ในประเทศที่ประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งก็คือ เรื่องหนี้สิน มีจำนวนมากเกินกว่าที่รัฐบาลเหล่านั้นจะรับมือไหว
ข้อเท็จจริงทางการเงินสามารถพิจารณาได้จากการปิดสาขาของธนาคาร หรือแม้กระทั่งการปรับลดอันดับเครดิตของ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ
ล่าสุด ธนาคารมอนเต เด ปาสคิ ดิ เซียนา (MPS) ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 3 ของอิตาลี และเป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ประกาศแผนควบรวมธุรกิจต่างๆในเครือ ให้เป็นหนึ่งเดียว พร้อมกับปิดสาขาของธนาคาร 400 สาขา ภายในปี 2558
สาเหตุสำคัญ เพราะ MPS และธนาคารอื่นๆ อีกหลายแห่งของอิตาลี ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาว และเงินฝาก จากผลกระทบของวิกฤตหนี้ยูโรโซน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา มูดี้ส์ฯ ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน 11 แห่งของบราซิล หลังจากที่มูดี้ส์ ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารทั่วโลก
โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือด้านเงินฝาก ทั้งระยะสั้น และระยะยาว
นั่นหมายความว่า ความกังวลเกี่ยวกับการถอนเงินฝากของประชาชนในประเทศนั้นๆ กำลังลุกลามขยายตัวออกไป
แต่จะขยายตัวลุกลามใหญ่ไปสู่ปรากฏการณ์ “แบงก์รัน” หรือการล้มลงของธนาคารหรือไม่นั้น...ยังต้องพิจารณาอีกหลายปัจจัย
ก่อนหน้านี้ มูดีส์ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือครั้งใหม่แก่ธนาคารสเปน จำนวน 28 แห่ง เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในวันเดียวกันกับที่รัฐบาลสเปน ยื่นขอเงินช่วยเหลืออย่างเป็นทางการจำนวน 1 แสนล้านยูโร เพื่อนำมาช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ภาคธนาคารในประเทศ หลังจากฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แตก
แม้ว่าทีมชาติสเปน จะเข้าฟุตบอลยูโร 2012 เป็นสมัยที่ 2 แต่สถานะทางการเงินในประเทศอยู่ในสภาวะที่ไม่น่าชื่นชม
เหตุผลสำคัญก็คือว่า ธนาคารของสเปนกำลังเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการปล่อยกู้เพื่อโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก จนเกิดฟองสบู่ รวมทั้งรัฐบาลสเปน ก็ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ
นอกจากนั้น มูดี้ส์ฯ ยังได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้สถาบันการเงินชั้นนำของโลก 15 แห่ง โดยให้เหตุผลว่า มีความเสี่ยงสูง ที่สถาบันการเงินเหล่านี้ จะขาดทุนเพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป
ทั้ง 15 แห่งประกอบด้วย แบงก์ ออฟ อเมริกา บาร์เคลย์ ซิติกรุ๊ป เครดิตสวิส โกลด์แมน แซคส์ เอชเอสบีซี เจพีมอร์แกน เชส มอร์แกน สแตนเลย์ โรยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ บีเอ็นพี พาริบาส์ เครดิต อกริโคล ดอยต์ช์ แบงก์ โรยัล แบงก์ ออฟ แคนาดา โซซิเอเต เจเนอราล และยูบีเอส
ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของสถาบันการเงินเหล่านี้ สูงขึ้นทันที
ความไม่มั่นคงของสถาบันการเงินในกลุ่มยูโร ทำให้ความต้องการกู้เงินของสถาบันการเงินเหล่านี้มีสูง โดยเฉพาะการกู้เงินจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)
ความต้องการกู้มีมากกว่า 4 เท่าตัว คิดเป็นเงินสูงถึง 180,000 ล้านยูโร หรือ 225,000 ล้านดอลลาร์ จากธนาคาร 105 แห่ง
ทั้งนี้ ในการปล่อยกู้ระยะ 7 วัน ธนาคารกลางยุโรปที่คิดอัตราดอกเบี้ย 1 % แบบวงเงินไม่จำกัด โดยมีธนาคาร 101 แห่งขอกู้
ที่ผ่านมาธนาคารกลางยุโรป ได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบในเวลา 3 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านยูโร
ความฝืดเคืองทางการเงินดังกล่าว มีสาเหตุหลักมาจากปัญหาหนี้ของ 5 ยุโรป ได้แก่ กรีซ โปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ และสเปน หรือกลุ่ม PIIGS
ความรุนแรงของปัญหาที่ยากจะแก้ไขได้ง่ายๆ โดยเฉพาะกรีซ ซึ่งนักวิเคราะห์ยูบีเอส ประเมินว่า กรีซจะผิดนัดชำระหนี้ในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า
โดยประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจของกรีซจะเติบโตเพียง 0.7 %
สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศโปรตุเกส อาจจะต้องผิดนัดการชำระหนี้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพราะสัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าจะแตะระดับ 120 % ของจีดีพีในปีหน้า โดยคาดว่าจีดีพีของโปรตุเกส น่าจะขยายตัวที่ 3.2 % ในปีนี้
ประเทศไอร์แลนด์ คาดว่าอัตราหนี้ต่อจีดีพี ของไอร์แลนด์อยู่ที่ 115 % ในปี 2556 แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของไอร์แลนด์จะอยู่ที่ 2 % ในปีหน้า
ประเทศอิตาลี ปัจจุบันมีอัตราหนี้สาธารณะที่ระดับ 120 % ของจีดีพี โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะอาจจะเติบโต 0.2 % ในปี 2556
สถานะทางการเงินของอิตาลีน่าจะดีสุดในกลุ่ม PIIGS โดยไม่น่าจะขอความช่วยเหลือทางการเงิน
ส่วนประเทศสเปนมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีประมาณ 90 % โดยคาดว่าจีดีพีของสเปนจะอยู่ที่ระดับ 1.3 % ในปีหน้า
ปัญหาใหญ่ของสเปนกำลังเผชิญฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้จะไม่มีแนวโน้มการผลิดนัดชำระหนี้ก็ตาม
เหล่านี้คือบทสรุปของบทเคราะห์จาก ยูบีเอส
อย่างไรก็ตาม หากลำดับภาพปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศยุโรป จะพบว่า มีการประเมินผิดพลาดมาตลอด
วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2552 ต่อมาสถานการณ์เริ่มตึงเครียดมากขึ้นในช่วงต้นปี พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะ 3 ประเทศสำคัญ คือ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ และ กรีซ อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้
จนกระทั่งกลุ่มประเทศยุโรป ต้องหันมาให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2553 จำนวน 750,000 ล้านยูโร โดยการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility)
แต่ยิ่งให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ยิ่งพบว่า การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เท่ากับเป็นโยนหินไปในทะเลทราย
ในปี 2553 วิกฤตหนี้สาธารณะมีศูนย์กลางในกรีซ จนกระทั้งกลุ่มประเทศยูโรโซนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ภายใต้การช่วยเหลืออย่างแข็งขันของเยอรมัน ตกลงให้กรีซ กู้ยืมเงินจำนวน 110,000 ล้านยูโร โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวด
แต่การประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดของชาวกรีก เกิดขึ้นทั่วประเทศ
นอกจากการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซแล้ว หลังจากนั้นกลุ่มประเทศยูโรโซนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ยังได้มีการให้เงินช่วยเหลือมูล่า 85,000 ล้านยูโรแก่ไอร์แลนด์ในเดือนพฤศจิกายน 2553 และ 78,000 ล้านยูโรแก่โปรตุเกส ในเดือนพ.ค. 2554
ก่อนจะลุกลามกลายเป็นวิกฤติการเงินยูโรโซน
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 ผู้นำยูโรโซนประชุมกันในกรุงบรัสเซลส์ โดยตกลงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ในรูปแบบของมาตรการเพื่อป้องกันการล้มของเศรษฐกิจประเทศสมาชิกเนื่องจากหนี้สาธารณะ รวมทั้งข้อเสนอให้ลดมูลค่าทางบัญชีของพันธบัตรกรีซลง 50 % เพื่อลดหนี้สินของกรีซ 100,000 ล้านยูโร เพิ่มกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรปเป็น 1 ล้านล้านยูโร และกำหนดให้ธนาคารยุโรป เพิ่มทุน 9%
จนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ผู้นำยูโรโซน ได้ยื่นคำขาดต่อกรีซ เกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัด อย่างไรก็ตาม ผู้นำอียู ได้ตกลงสร้าง “สหภาพการเงินร่วม” เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในยุโรป ซึ่งมีการผูกมัดให้ประเทศสมาชิก นำงบประมาณสมดุลมาใช้
วิกฤตการณ์หนี้สาธารณะได้ขยายวงไปสู่ความไม่มั่นใจต่อยูโรโซน แม้ว่าเศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศ คือ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส มีขนาดเพียง 6 % ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของยูโรโซน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับมีสูงมาก จนกระทั่งสเปน และอิตาลี ก็ไม่รอดพ้น
“คณิศ แสงสุพรรณ” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ประเมินผลกระทบว่า ประมาณการว่า ปีนี้จีดีพีของยุโรปจะขยายตัวติดลบ 0.9 % แต่ขณะนี้ อาจมีความเหวี่ยงติดลบมากกว่านั้น หรือกรณีเลวร้ายสุดติดลบ 5 % นั่นหมายความว่า จีดีพี ของไทยจะขยายตัวลดลงเหลือ 2.2 % จาก 5.5 % แต่ความเป็นไปได้ที่จีดีพียุโรป จะติดลบถึง 5 % มีเพียง 20 % เท่านั้น”
"ผลกระทบต่อไทยนั้น มีแน่นอน เราต้องระวังตัว เรามีสัดส่วนการส่งออกต่อจีดีพีประมาณ 67 % โดยมีสัดส่วนการส่งออกตรงไปยุโรป 9.4 % แต่ถ้าเราประเมินผลกระทบทางอ้อมจากการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ที่ส่งออกไปยังยุโรปด้วยแล้ว จะมีผลกระทบมากกว่านั้น หรือประมาณ 17 % ของการส่งออก"
นักวิเคราะห์หลายรายประเมินกันว่า กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทย ที่จะได้รับผลกระทบ คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวจากยุโปรจะน้อยลง
ที่สำคัญปัญหานี้ จะยังดำรงอยู่ต่อไปอย่างน้อยอีก 5 ปี
“ การแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ยูโร โซน ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว น่าจะเกินเวลายืดเยื้อไป 4-5 ปี เนื่องจากขาดเอกภาพทางการเมืองของสมาชิกทั้ง 17 ประเทศ” รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ประเมินสถานการณ์
เขาเชื่อว่า “ทางออกของวิกฤติยูโร โซนในกรณีเลวร้ายที่สุด ก็คือ เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจต้องดำเนินการมาตรการ Q.Eข้ามทวีป เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ยูโรโซนเช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรป(ECB) ต้องดำเนินมาตรการQ.Eด้วยตนเอง โดยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบไม่จำกัด จนทำให้เกิดเป็น Double Q.E. Action และอาจจะต้องขอให้ธนาคารกลางกลุ่มจี 9 โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่นและรัสเซียเข้ามาร่วมลงขันด้วย”
หากเป็นเช่นนั้นจริง จะทำให้ปัญหาทั้งหมดถูกแก้ไขไปในคราวเดียวกัน ทั้งภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ และปัญหาหนี้ของยูโรโซน
แต่หลายคนเชื่อว่า...ไม่น่าจะเกิดขึ้น !!!