xs
xsm
sm
md
lg

ING มองเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังยังเปราะบางจากวิกฤตหนี้ยุโรป-สหรัฐฯ เติบโตช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.ไอเอ็นจีคาดการณ์เศรษฐกิจโลกครึ่งหลังปี 2012 ยังคงขยายตัวได้อย่างเปราะบาง จากปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในขณะที่กลุ่มอีเมอร์จิ้งมาร์เกตและเอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่โดดเด่นเหมาะต่อการลงทุน ส่วนเศรษฐกิจไทยประเมินยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงหลักจากเศรษฐกิจโลก ตลาดหุ้นไทยยังคงน่าลงทุน คาดบริษัทจดทะเบียนมีอัตราการเติบโตของกำไร 27% ในปี 2012

นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน ฝ่ายจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไอเอ็นจีคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังของปี 2012 เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามที่ IMF คาดการณ์การเติบโตที่ 3.5% ในปี 2012 และ 4.1% ในปี 2013 ท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตหนี้ของยุโรป แต่หากพิจารณาภาพรวมนับว่าเศรษฐกิจโดยรวมทรงตัว โดยการลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่และภูมิภาคเอเชียยังคงเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับความสนใจในการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากการที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยูโรโซน

“ทิศทางเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง กลุ่มเศรษฐกิจที่ต้องจับตามองใกล้ชิดยังคงเป็นกลุ่มเดิมคือ กลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐฯ และจีน โดยกลุ่มประเทศยุโรปนั้น นอกจากเผชิญกับความเสี่ยงที่กรีซอาจจะต้องออกจากยูโรโซนแล้ว ยังต้องเผชิญความเสี่ยงด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกด้วย เนื่องจากหลายประเทศในยุโรปมีแผนที่จะตัดลดงบประมาณในช่วงครึ่งปีหลังเพื่อเป็นการพยุงฐานะทางการคลัง นอกจากนี้ กลุ่มประเทศยุโรปยังต้องเผชิญความเสี่ยงในแง่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่เป็นผลจากการเปลี่ยนผู้นำในหลายประเทศ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ส่วนในสหรัฐฯ การเติบโตทางเศรษฐกิจเริ่มชะลอลง และอาจได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการที่เศรษฐกิจยุโรปถดถอย ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวล่าช้าลงไปอีก และที่สำคัญคือการว่างงาน ซึ่งหากแรงงานตกอยู่ในสภาวะว่างงานเป็นเวลานาน แรงงานเหล่านั้นอาจประสบปัญหาผลิตภาพการผลิตลดลง และนำไปสู่ภาวะการว่างงานถาวรได้ในที่สุด สำหรับประเทศจีน เศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจน โดยเฉพาะภาคการผลิต เป็นเหตุให้รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ผ่านโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ”

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง มนรัฐ มองว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ประมาณ 5.5-6% ในปี 2012 ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประมาณการไว้ (พฤษภาคม 2012) โดยมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยภายหลังวิกฤตน้ำท่วม ทั้งการลงทุนโดยภาครัฐและการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะฟื้นตัวได้เต็มที่ตั้งแต่ไตรมาสที่สองเป็นต้นไป ทั้งนี้ คาดว่าแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะมาจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ โดยเห็นได้จากกิจกรรมการลงทุนเพื่อทดแทนเครื่องจักรและสิ่งปลูกสร้างที่เสียหายจากภาวะน้ำท่วมเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการที่สะสมในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะรถยนต์ที่ทยอยส่งมอบในไตรมาสสองเป็นต้นไป นอกจากนี้ นโยบายต่างๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการพยุงราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง เป็นต้น จะเป็นปัจจัยรองรับให้รายได้เกษตรกรไม่ตกต่ำไปกว่าปัจจุบันมากนัก นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนโดยตรง

ในด้านการลงทุนภาครัฐ มาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังภาวะอุทกภัยครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา โดยการผลักดันค่าใช้จ่ายของภาครัฐเป็นปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลจากการผ่านงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ ประกอบกับแผนระยะยาวทางรัฐบาลที่มีการทำแผนงานสำหรับโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท ในด้านการส่งออกเราเชื่อว่าเอกชนไทยโดยเฉพาะผู้ส่งออกได้มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ส่งออกไทยค่อนข้างจำกัด อีกทั้งการค้าขายกันเองในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยช่วยรองรับผลกระทบจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในยุโรป ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ ประเด็นทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการบริโภคและการลงทุน

แนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เราเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลังจะผันผวนค่อนข้างมากเนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสำคัญๆ ในโลก แต่ในขณะเดียวกันนักลงทุนจะมีความคาดหวังต่อนโยบายต่างๆ ที่จะออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การให้เงินกู้แก่ธนาคารยุโรปที่มีปัญหา ความคาดหวังในการออก QE3 ของสหรัฐฯ รวมทั้งการคาดการณ์ว่าประเทศจีนอาจจะมีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะมีความอ่อนไหวต่อกระแสข่าวทั้งในด้านบวกและด้านลบที่จะเกิดขึ้น สำหรับประเทศกรีซ เราเชื่อว่าถ้าจะต้องออกจากกลุ่มประเทศยุโรป จะเป็นการออกแบบมีการเตรียมพร้อมรับมือให้มีผลกระทบ (contagion effect) น้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ไอเอ็นจีเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังเป็นตลาดหุ้นที่อยู่ในกลุ่มที่น่าสนใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้มาจากการคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจะมีอัตราการเติบโตของกำไร (EPS-Earning per Share) ร้อยละ 27 ในปี 2012 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากทั้งการขยายตัวของรายได้ของประชาชน การอุดหนุนอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ และผลจากการลดภาษีของนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23 และเมื่อเข้าสู่ครึ่งปีหลังนักลงทุนจะเริ่มมองไปถึงการคาดการณ์ของผลประกอบการปี 2013 ที่คาดว่าน่าจะมีการเติบโตของผลประกอบการต่อเนื่องอีกประมาณร้อยละ 14.6 ในเชิงของระดับราคา

ในปัจจุบัน อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ในปี 2555 อยู่ที่ 11.1 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับ P/E เฉลี่ยของภูมิภาค* และยังมิได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตของตลาดหลักทรัพย์ไทย อีกทั้งเรายังเชื่อว่าจะยังไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของสภาพคล่องจากการไหลกลับของธนาคารกลางต่างๆ เพราะเราเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงเติบโตอย่างเชื่องช้า ดังนั้นผลประกอบการของบริษัทจะเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงขึ้นกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง อันอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนบางกลุ่ม เช่นกลุ่มพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มส่งออก สำหรับปัจจัยความเสี่ยงภายในที่ต้องติดตาม ได้แก่ปัญหาการเมืองในประเทศ ซึ่งเริ่มร้อนแรงขึ้นหลังจากที่มีความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นวาระเร่งด่วน

“ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังของปี 2012 ยังน่าลงทุน จากความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำลดที่จะเริ่มเห็นผลอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ การขยายตัวของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนที่ยังโตต่อเนื่อง และมูลค่าหุ้นที่ถูกจะเป็นสิ่งจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติยังคงให้ความสนใจในตลาดหุ้นไทย โดยปัจจัยเสี่ยงยังคงมาจากภายนอกประเทศเป็นหลัก ทั้งปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศกลุ่มยูโร และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ”

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในครึ่งปีหลังของปี 2012 เรายังคงแนะนำให้นักลงทุนมองหาการลงทุนที่สามารถเพิ่มผลตอบแทนได้ โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนที่มีความยืดหยุ่นในการลงทุนระหว่างหุ้นกับตราสารหนี้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการลงทุนในแต่ละขณะ เพราะเรามองว่าการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังคงมีความผันผวนเป็นระยะ ดังนั้น การเลือกการลงทุนที่สามารถปรับสัดส่วนการลงทุน (Portfolio Rebalancing) ได้ จะทำให้ลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ดีในภาวะที่ตลาดไม่เอื้ออำนวย และสามารถสร้างโอกาสผลตอบแทนที่ดีในภาวะที่ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น กองทุนเปิดไอเอ็นจีไทยบาลานซ์ฟันด์ และกองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย มิกซ์ 15/85 ปันผล

กำลังโหลดความคิดเห็น