หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประกาศว่าจะใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งที่3 หรือ Quantitative Easing (QE) ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรประเภท MBS (mortgage-backed securities) หรือตราสารหนี้ที่ผูกพันกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ จำนวน 4หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อหวังจะกดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านในตลาดให้ต่ำลงไปกว่าเดิม และสร้างให้เกิดกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งคนที่ภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงก็จะได้รีไฟแนนซ์เพื่อลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยลง โดยเมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐอเมริกาปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากมาตราการนี้จะทำให้สภาพคล่องในระบบเพิ่มขึ้น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจะกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การใช้มาตราการ QE3 ในครั้งนี้จึงถูกคาดหวังที่จะสามารถแก้ปัญหาตลาดแรงงานในสหรัฐให้มีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากที่อัตราการว่างงานของสหรัฐอยู่ในระดับที่สูงกว่า 8% มานับตั้งแต่ปี2552
จากวิกฤตซับไพรม์ในช่วงปลายปี 2551 เป็นต้นมา การประกาศใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในลักษณะ Quantitative Easing (QE) เป็นหนึ่งในกลไกที่ธนาคารกลางของหลายประเทศนำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่นโยบายการเงินผ่อนคลายแบบปกติ ไม่สามารถแก้ไขได้ ธนาคารกลางสหรัฐฯใช้มาตรการ QE1 เพื่อการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ด้วยการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เข้าไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน โดยเน้นการซื้อ MBS เป็นหลัก ในขณะที่ QE2 จะเน้นการซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีระยะเวลากำหนดชำระยาวนานขึ้น (Longer term Treasury securities) เพื่อต้องการกดดอกเบี้ยระยะยาวให้ต่ำลง ซึ่งจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
แม้ว่าสหรัฐฯ ใช้มาตรการ QE มาถึง 2 ครั้งแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ตามมาจากการใช้มาตรการดังกล่าวกลับไม่ใช่อัตราการว่างงานที่ลดลง กระแสเงินที่ถูกสร้างขึ้นมาจากนโยบาย QE ถูกเคลื่อนย้ายไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในประเทศที่กำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทย ทำให้มีเม็ดเงินจากต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้เอเชียมากขึ้น เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้อาจทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูง และอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ได้เช่นกัน ทำให้ตลาดเริ่มกังวลว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องอาจจะทำให้ ตลาดตราหนี้ของทั้งไทย และภูมิภาคเอเชียได้รับผลกระทบภายหลังการประกาศใช้มาตราการ QE3
ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20 bps. (ในช่วงเดือนกันยายน) เช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาค เนื่องจากความกังวลว่ากระแสเงินไหลเข้ามาลงทุนในแถบเอเชียซึ่งมีผลตอบแทนสูงกว่า น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น อาจจะทำให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น รวมถึงการลงทุนในตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น และอาจส่งผลต่อเนื่องให้ตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องหันมาให้ความสนใจประเด็นนี้เพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
การเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารทุน ตราสารหนี้ และอสังหาริมทรัพย์ ในระยะสั้นส่วนใหญ่นักลงทุนจะมีเป้าหมายเพื่อเก็งกำไรจากการปรับตัวขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ และอาจนำมาซึ่งความผันผวนของระบบการเงินในประเทศ เพราะเมื่อเงินทุนสามารถไหลเข้าสู่ประเทศได้มากและรวดเร็วเท่าไหร่ ก็ย่อมสามารถไหลออกได้มากและรวดเร็วเช่นกัน โดยในช่วงแรกจะทำให้หลักทรัพย์ ได้แก่ หุ้น ตราสารหนี้ หรืออสังหาริมทรัพย์มีราคาสูงขึ้น แต่เมื่อเงินทุนจำนวนนั้นไหลออกจากประเทศในจำนวนที่มากก็จะส่งผลให้หลักทรัพย์ดังกล่าวมีราคาลดลง หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่าฟองสบู่แตก และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในที่สุด ดังนั้นคงต้องจับตาดูกันว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างที่บางท่านกังวลหรือไม่ และภาครัฐจะมีมาตรการใดเพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาตลาดทุนโดยรวมของประเทศ
โดยพอพิศ ยอดแสง
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th