xs
xsm
sm
md
lg

กระแสเงินทุนไหลเข้า กับการใช้มาตรการของธนาคารกลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พอพิศ ยอดแสง
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
porpit@thaibma.or.th

หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ (Quantitative Easing: QE 3) ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะซบเซาด้วยการเข้าซื้อสินทรัพย์ประเภท Mortgage-Backed Securities: MBS (หรือสินทรัพย์ที่ถูกค้ำประกันด้วยลูกหนี้จดจำนอง) ในวงเงิน 4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยไม่จำกัดระยะเวลา พร้อมๆกับการตรึงดอกเบี้ยภายในประเทศไว้ในระดับต่ำ (0 - 0.25%) ไปจนถึงปี 2558 การตัดสินใจของ Fed ในครั้งนี้ ทำให้นักลงทุนคาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลออกจากสหรัฐฯ ไปยังประเทศอื่นๆ มากขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนภายในประเทศสหรัฐฯ (ในรูปของดอกเบี้ย) มีแนวโน้มว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำ ประกอบกับเม็ดเงินภายในประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการ QE

โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่เคยได้รับผลกระทบจากกระแสเงินทุนไหลเข้า เมื่อครั้งที่มาตรการ QE 1 และ QE 2 ถูกประกาศใช้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มของประเทศที่กำลังมีพัฒนาการของตลาดเงินตลาดทุนภายในประเทศ (Emerging Market) เนื่องจากประเทศในกลุ่มนี้มักจะมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับที่สูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในช่วง 1 - 2 เดือนที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าค่าเงินของหลายๆ ประเทศในกลุ่ม Emerging Market เช่นค่าเงินบาท (ไทย) เงินวอน (เกาหลี) และเงินริงกิต (มาเลเซีย) ล้วนแต่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆเหล่านี้ ต้องหันมาทบทวนนโยบาย และหาแนวทางเพื่อรับมือกับเม็ดเงินลงทุนที่มีแนวโน้มจะไหลเข้าสู่ประเทศอีกรอบหนึ่ง

ผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่า เพราะเหตุใดธนาคารกลางของหลายๆประเทศจึงให้ความสำคัญ และวิตกกังวลเกี่ยวกับกระแสเงินทุนไหลเข้า ทั้งที่เม็ดเงินดังกล่าวน่าจะเป็นส่วนช่วยให้บรรยากาศการลงทุนภายในประเทศนั้นๆ เกิดความคึกคักมากขึ้น รวมไปถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจขยายตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศส่วนใหญ่คาดหวังจะให้เกิดขึ้นกับประเทศของตนเอง แต่ข้อเท็จจริงและประสบการณ์ที่ได้รับจากการใช้มาตรการ QE ของ Fed ที่ผ่านมาทั้ง 2 รอบนั้น เรากลับพบว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่ที่ไหลเข้ามาลงทุนประเทศไทยเป็นลักษณะของการลงทุนในระยะสั้นๆ เป็นหลัก ทั้งในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร ซึ่งความเสี่ยงจากเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในระยะสั้นคือความไม่แน่นอนของระยะเวลาที่เม็ดเงินเหล่านี้จะไหลกลับออกไป และหากเป็นการไหลออกในปริมาณมากๆ ในคราวเดียวกันด้วยแล้ว นอกจากจะส่งผลให้นักลงทุนรายอื่นๆ ในตลาดเกิดผลขาดทุนจากการปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วของราคาสินทรัพย์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะมีขึ้นในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า (17ตุลาคม 2555) จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนในตลาดกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีการส่งสัญญานใดๆ ผ่านทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือจะมีการเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นใด เพื่อช่วยในการดูแลรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้รองรับกับกระแสเงินทุนที่มีแนวโน้มว่าจะไหลเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น