xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะตลาดตราสารหนี้ เดือนตุลาคม 2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดยจิตจุฑา หวานชะเอม
ฝ่ายกำกับดูแล
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
jitjutha@thaibma.or.th

ในเดือนตุลาคม 2555 มีปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้รวมทั้งสิ้น 1.78 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยที่ประมาณ 80,800 ล้านบาทต่อวัน คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.40% จากในเดือนกันยายนที่มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยที่ประมาณวันละ 78,900 ล้านบาท ทั้งนี้การซื้อขายกว่า 14% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด เป็นยอดการซื้อขายจากการฝากประมูล นอกจากนี้แล้วยังพบว่ากว่า 72% ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เป็นการซื้อขายในตราสารระยะสั้นที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี (ประมาณ 58,000 ล้านบาท) ในขณะที่อีกประมาณ 28% (22,800 ล้านบาท) เป็นการซื้อขายในตราสารที่มีอายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี

ทางด้านกลุ่มของนักลงทุนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายตราสารหนี้สูงที่สุด ยังคงเป็นกลุ่มของนักลงทุนประเภทบริษัทจัดการกองทุน (Asset Management Company: AMC) โดยมีมูลค่าการซื้อขายคิดเป็น 56% ของนักลงทุนทุกๆ ประเภทรวมกัน ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติ (Foreign Investor) มีมูลค่าการซื้อขายรวม 180,224 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% ของมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนทุกๆ ประเภทรวมกัน) หรือคิดเป็นยอดซื้อสุทธิประมาณ 26,900 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากไม่นับรวมการซื้อขายตราสารระยะสั้นที่มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนซ้ำ: Roll Over ไปเรื่อยๆ) จะพบว่านักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าของการซื้อและขายรวมกัน 86,700 ล้านบาท หรือคิดเป็นยอดซื้อสุทธิ 8,100 ล้านบาท

สำหรับผลตอบแทน (Return) ของการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในเดือนตุลาคม (เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน: Month on Month) โดยวัดจากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Index) พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.69% มาอยู่ที่ระดับ 219.62 จุด และหากพิจารณานับตั้งแต่ต้นปี (Year to Date) พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.55% ในขณะที่ผลตอบแทนสำหรับการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนในเดือนตุลาคม พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.04% (Month on Month) และเพิ่มขึ้น 3.46% (Year to Date) ตามลำดับ

ทางด้านการเคลื่อนไหวของเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ในเดือนตุลาคม พบว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงในทุกๆช่วงอายุ หรือลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 20 bp. (100 bp มีค่าเท่ากับ 1%) การลดลงของอัตราผลตอบแทนในเดือนนี้ มีผลมาจากปัจจัยหลัก 2 ประการ โดยที่ประการแรก เป็นการปรับตัวลดลงตามการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 1 Day) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ตัดสินใจลด R/P 1 Day ลง 0.25% จากที่ระดับ 3.0% มาอยู่ที่ 2.75% ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ค่อนข้างอยู่เหนือความคาดหมายของนักลงทุนในตลาด ที่ส่วนใหญ่คาดว่าน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม

ขณะที่ปัจจัยประการที่สอง ที่มีผลทำให้เส้น Yield Curve ปรับตัวลดลง เป็นเรื่องของอุปทานพันธบัตร (Bond Supply) ในตลาดแรกที่มีปริมาณการออกใหม่ค่อนข้างน้อย โดยตลอดทั้งเดือนตุลคาคม มีพันธบัตรรัฐบาลออกประมูลใหม่เพียง 28,500 ล้านบาท น้อยกว่าปริมาณการประมูลในเดือนก่อนๆ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 45,000 - 55,000 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้มีแรงซื้อจากนักลงทุนเข้ามาในตลาดรองมากขึ้น และดึงให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง (ราคาเพิ่มสูงขึ้น) นอกจากนี้แล้ว ยังคงมีปัจจัยอื่นๆ เช่น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของหลายๆประเทศที่ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว ความเสี่ยงของเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนที่ยังต้องติดตามอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ประเทศสเปนถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อลงอีก 2 ขั้นไปอยู่ที่ระดับ BBB- หรือการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำต่อไปของประเทศสหรัฐฯ และกลุ่มสหภาพยุโรป ที่ส่งผลทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง และมีผลทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ปรับตัวลดลงตามไปด้วยในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น