xs
xsm
sm
md
lg

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)………ผลดี / ผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยสุชาติ ธนฐิติพันธ์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

การรวมตัวกันของประเทศในกลุ่มอาเซียนจำนวน 10 ประเทศ เพื่อเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ “AEC” ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2558 ที่จะถึงนี้ ด้วยข้อตกลงร่วมกันของประเทศสมาชิกที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเสรี (Free Flow) ในด้านต่างๆ อันได้แก่ (1) สินค้า (2) บริการ (3) การลงทุน (4) เงินทุน และ (5) แรงงานฝีมือ และแน่นอนว่าการเปิดเสรีในด้านต่างๆเหล่านี้ ย่อมมีผลต่อประเทศไทยในฐานะที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม AEC อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผลกระทบดังกล่าว ยังมีผลไปถึงนักลงทุนที่อยู่ในตลาดตราสารหนี้ไทยด้วยเช่นกันครับ

AEC นั้นเกิดขึ้นจากกรวมตัวกันของ 10 ประเทศสมาชิก อันได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย โดยที่ประเทศต่างๆ เหล่านี้ต่างก็มีจุดแข็งและจุดอ่อนเพื่อรองรับกับการเคลื่อนย้ายเสรีในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกันไป และสำหรับประเทศไทย ด้วยจุดแข็งทางสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในใจกลางของกลุ่ม AEC ประกอบกับระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ค่อนข้างครอบคลุม จึงถูกวางให้เป็นศูนย์กลาง (Hub) ทางด้านการขนส่ง และการท่องเที่ยวครับ แต่ในแง่ของการลงทุนจากต่างชาติ เมื่อแยกพิจารณาระหว่างการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment: FDI) และการลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Investment) เราคงต้องยอมรับว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ฐานการผลิตที่น่าสนใจสำหรับ FDI อีกต่อไป เมื่อประเทศเพื่อนบ้านซ้ายขวาของไทยล้วนแต่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์กว่า และยังมีแรงงานราคาถูกที่ดึงดูดใจเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติมากกว่า

แต่สำหรับเม็ดเงินต่างชาติที่อยู่ในรูปของ Portfolio Investment โดยเฉพาะในส่วนของเม็ดเงินที่เข้าไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้หรือตลาดพันธบัตรของประเทศในกลุ่ม AEC ด้วยแล้ว ประเทศไทยยังถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่คาดว่าจะได้รับความสนใจจากเม็ดเงินลงทุนดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากปัจจัยในด้านต่างๆ อันได้แก่ (1) ความน่าเชื่อถือของประเทศ (2) ผลตอบแทนของพันธบัตร (3) ขนาดและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ และ (4) ดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ในหลายๆ ประเด็นด้วยกันครับ

เริ่มจากประเด็นด้านความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศในกลุ่ม AEC ทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 7 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (บรูไน ลาว และพม่า ยังไม่ได้รับการจัดอันดับฯ) เราพบว่าประเทศไทยมี Credit rating อยู่ที่ระดับ “BBB+” ซึ่งถือว่าดีเป็นอันดับที่ 3 ของกลุ่ม (แย่กว่าสิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่มี Credit Rating ที่ระดับ “AAA” และ “A-“ ตามลำดับ) และด้วยมุมมองต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) จึงน่าจะมีผลดึงดูดให้เม็ดเงินในส่วนของ Portfolio Investment ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม AEC ด้วยกัน

ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกับประเทศไทย (ในที่นี้ทำการเปรียบเทียบกับ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมี Credit Rating ที่ระดับ “A-“ “BBB-“ และ “BB+” ตามลำดับ) จะพบว่าหากเป็นการลงทุนในพันธบัตรอายุ 2 ปี ผลตอบแทนที่ได้จากพันธบัตรไทย (2 Yr = 3.11% ต่อปี) ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรฟิลิปปินส์ (2 Yr = 2.45% ต่อปี) ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วควรจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า (เนื่องจาก Credit Rating ของไทยดีกว่า 1 ระดับ) ในขณะที่หากเป็นการลงทุนในพันธบัตรอายุ 5 ปี และ 10 ปี ผลตอบแทนที่ได้จากพันธบัตรไทย (5 Yr = 3.24% ต่อปี, 10 Yr = 3.45% ต่อปี) กลับอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรมาเลเซียเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (5 Yr = 3.25% ต่อปี, 10 Yr = 3.52% ต่อปี) ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้ว ผลตอบแทนของพันธบัตรไทยควรจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาเลเซียพอสมควร (เนื่องจาก Credit Rating ของมาเลเซียดีกว่า 1 ระดับ) และด้วยผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีความแตกต่างกันเช่นนี้ จึงน่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยมากขึ้น

ในขณะที่ขนาดและสภาพคล่องของตลาด (Market Size & Liquidity) ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการไหลเข้าของเม็ดเงินต่างชาติด้วยเช่นกัน เนื่องจากขนาดของตลาดที่ใหญ่กว่าและสภาพคล่องที่สูงกว่า จะมีผลช่วยรองรับเม็ดเงินลงทุนได้ในปริมาณที่มากกว่า ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด (12 ต.ค. 2555) พบว่ามีเพียง 6 ประเทศในกลุ่ม AEC ที่มีตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศ (บรูไน กัมพูชา ลาว และพม่า ยังไม่มีตลาดตราสารหนี้) โดยตลาดตราสารหนี้ (ภาครัฐ) ของไทย นอกจากจะถือได้ว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม AEC แล้ว ยังถือว่ามีสภาพคล่องสูงที่สุดในกลุ่มด้วยเช่นกัน นอกจากนี้แล้ว ยังพบว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ (3.4%) เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ (3.9%, 4.3% และ 3.6% ตามลำดับ) และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีกว่า ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำกว่า จึงน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ตลาดตราสารหนี้ไทยขยายตัวตามเม็ดเงินลงทุนที่คาดว่าจะไหลเข้าอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ตลาดตราสารหนี้ไทยจะเดินไปในทิศทางใด ภายหลังจากการรวมกลุ่มของ AEC อย่างเป็นทางการในปี 2558 ยังคงเป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น