xs
xsm
sm
md
lg

จับตามอง..การแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนมาอยู่ที่ระดับ 29.70 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ในวันที่ 21 ม.ค. 2556) หรือคิดเป็นการแข็งค่าขึ้นกว่า 2.9% ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 20 วัน ทำให้นักลงทุนในตลาดหันมาให้ความสนใจ และเฝ้าจับตาสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทในระดับที่สูงเกินกว่าปกติดังที่กำลังเกิดขึ้นนั้น นอกจากจะมีผลต่อเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยน และเกิดผลกระทบต่อผู้ส่งออกแล้ว ยังมีผลต่อทิศทางการไหลเข้า-ไหลออกของเม็ดเงินลงทุนในตลาดการเงินของไทยอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วการแข็งค่าของเงินบาทนั้นมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยในวันนี้เราจะมาลองทำการวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ว่ามีสาเหตุมาจากปัจจัยใด และจะมีแนวโน้มหรือทิศทางเป็นอย่างไรต่อไป

โดยทั่วไปแล้ว การแข็งค่าของเงินบาทหมายถึงการที่เงินสกุลบาทของไทยมีค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นที่ใช้เป็นตัวเปรียบเทียบ ตัวอย่างเช่น หากเดิมทีอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาทกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ (USD) อยู่ที่ 32 บาทต่อ 1 USD และต่อมาเคลื่อนไหวไปอยู่ที่ 30 บาทต่อ 1 USD เหตุการณ์เช่นนี้หมายถึงการที่เงินบาทมีค่ามากขึ้น หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือการที่เราสามารถใช้เงินบาทในจำนวนที่น้อยลงเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนให้ได้มาซึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐในจำนวนที่เท่าเดิมนั่นเอง โดยสาเหตุที่ทำให้เงินบาทของเราแข็งค่าขึ้น (เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ) อาจแบ่งได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ (1) การส่งออกสุทธิที่ขยายตัวสูงขึ้น (2) การอ่อนค่าลงไปของเงินสกุล USD และ (3) กระแสเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทยในปริมาณมาก

โดยในประเด็นแรกนั้น เป็นผลมาจากการที่ผู้ส่งออกนำเงินสกุลต่างประเทศที่ได้รับจากการส่งออกสินค้ามาแลก (ซื้อ) เป็นเงินบาท และเมื่อมีความต้องการซื้อหรือความต้องการแลกเงินบาทในปริมาณมากก็จะมีผลทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในที่สุด (เปรียบเสมือนกับสินค้าชนิดหนึ่งที่มีความต้องการซื้อในปริมาณมาก การแข่งขันกันซื้อจะมีผลทำให้มูลค่าของสินค้าปรับสูงขึ้นตามไปด้วย) แต่เมื่อลองพิจารณาถึงสถานการณ์การส่งออกของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา กลับได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่ายอดการส่งออกของไทยยังขยายตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งในปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในภาวะ “ขาดดุลทางการค้า” หรือมียอดการส่งออกน้อยกว่ายอดการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง และด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่าการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มีผลมาจากการส่งออกที่ขยายตัวแต่อย่างใด

สำหรับประเด็นการอ่อนค่าลงของเงิน USD จนมีผลทำให้เงินบาท (ที่เป็นตัวเปรียบเทียบ) แข็งค่าขึ้นนั้น หากพิจารณาเปรียบเทียบค่าของเงินสกุล USD กับเงินของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จะพบว่าเงิน USD มีทั้งส่วนที่แข็งค่าขึ้น (เมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโร เงินเยนญี่ปุ่น เงินฟรังก์สวิส) และอ่อนค่าลง (เมื่อเทียบกับเงินปอนด์อังกฤษ หรือเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย) ในระดับที่แตกต่างกันไป และเมื่อลองพิจารณาค่าเงินของประเทศต่างๆ ซึ่งอยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับประเทศไทย จะพบว่ามีทั้งประเทศที่สกุลเงินของตนเองแข็งค่าขึ้น (ไทย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน) และอ่อนค่าลง (สิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย) เมื่อเทียบกับ USD ในระดับที่แตกต่างกันไปเช่นเดียวกัน ดังนั้น ประเด็นเรื่องการอ่อนค่าลงของเงิน USD จึงอาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักของการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา

ในขณะที่ประเด็นการไหลเข้าของเม็ดเงินต่างชาติ ทั้งในส่วนของตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น กลับกลายเป็นประเด็นหลักที่หลายฝ่ายกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเม็ดเงินต่างชาติเหล่านี้จะถูกนำมาแลก (ซื้อ) เป็นเงินบาทก่อนที่จะนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ไทยต่อไป ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยพบกับสถานการณ์การไหลเข้าอย่างรุนแรงของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงปลายปี พ.ศ. 2549 โดยในครั้งนั้นเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 7% (เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ) ภายในช่วงระยะเวลาประมาณ 6 เดือน และเป็นการแข็งค่าในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องประกาศใช้มาตรการกันสำรอง 30% สำหรับเม็ดเงินต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ไทย

ขณะที่สถานการณ์ค่าเงินบาทที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ หากเรามองย้อนกลับไปจนถึงช่วงเดือนพฤษภาคมในปีที่ผ่านมา จะพบว่าปัจจุบันเงินบาทของไทยแข็งค่าไปแล้วกว่า 6.6% (เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงระยะเวลา 7 เดือนเศษ นักลงทุนจึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องจะมีมาตรการใดๆ เพื่อใช้ในการดูแลเสถียรภาพของเงินบาทให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของไทยต่อไป

ทั้งนี้ จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.-18 ม.ค. 2556 (13 วันทำการ) พบว่านักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 10,500 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทยกว่า 86,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ยังแบ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุไม่เกิน 1 ปี) 80,000 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุเกิน 1 ปี) อีกประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้นสำหรับช่วง 13 วันทำการที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณวันละ 6,150 ล้านบาท สูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยของปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2555) ที่มียอดซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้นประมาณวันละ 2,600 ล้านบาท ซึ่งสถานการณ์การไหลเข้าของเม็ดเงินต่างชาติจะเป็นอย่างไรต่อไป จะมีผลทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกหรือไม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการเพื่อควบคุมดูแลอย่างไร ล้วนแต่เป็นประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด

โดยสุชาติ ธนฐิติพันธ์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
suchart@thaibma.or.th


กำลังโหลดความคิดเห็น