xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2556 จะเป็นอย่างไรและต้องติดตามปัจจัยอะไรบ้าง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยพอพิศ ยอดแสง
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด, ThaiBMA

แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2555 จะชะลอตัวลงจากปัจจัยหลักด้านภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศผู้นำของโลกอย่างสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มยุโรป แต่ด้วยการฟื้นตัวที่ค่อนข้างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจไทยอันเนื่องมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของการบริโภคในภาคครัวเรือน และการลงทุนของภาคเอกชนในการฟื้นฟูความเสียหายหลังเกิดอุทกภัยใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ประกอบกับปัจจัยเชิงบวกของกระแสเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าในหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าการซื้อขายโดยเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น หรือผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้น ทำให้ปี 2555 ถือเป็นปีทองของงการลงทุนในประเทศไทยก็ว่าได้ ทั้งนี้ สำหรับในปี 2556 บรรยากาศการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยจะเป็นอย่างไร และมีปัจจัยอะไรที่ต้องติดตามบ้าง ขอสรุปเป็น 4 ปัยจัยหลักๆ ดังนี้ค่ะ

ปัจจัยที่ 1 การฟื้นตัวและความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเด็นนี้มีส่วนสำคัญต่อบรรยากาศการลงทุนในปี 2555 ที่ผ่านมาอย่างชัดเจน ด้วยแรงผลักดันจากการบริโภคภายในประเทศผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการบ้านหลังแรก และโครงการรถคันแรก หรือมาตราการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ซึ่งมีผลทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในอัตราที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประมาณการว่า GDP ตลอดทั้งปี 2555 อาจจะขยายตัวได้สูงถึง 5.7% (ตามการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง : สศค.) ซึ่งจากปัจจัยเหล่านี้เองที่ทำนักลงทุนเกิดความมั่นใจ และเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินของไทยอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้แล้ว สศค.ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องได้อีก 5% ตามการลงทุนของภาครัฐที่จะเพิ่มสูงขึ้น ประกอบรายได้ของภาคครัวเรือนที่จะปรับตัวดีขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้วจึงคาดว่าบรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินของไทยปี 2556 น่าจะมีความคึกคักต่อเนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมาค่ะ

ปัจจัยที่ 2 การฟื้นตัวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปี 2555 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของหลายๆประเทศยังอยู่ในภาวะชะลอตัว จนต้องนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้ ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อพยุงเศรษฐกิจ (เช่น มาตรการ Quantitative Easing : QE ของสหรัฐฯ มาตราการ Asset Purchase Program : APP ของญี่ปุ่น หรือมาตรการ Outright Monetary Transaction : OMT ของกลุ่มสหภาพยุโรป) ซึ่งดูเหมือนว่าภายใต้มาตรการกระตุ้นทางการเงินที่หลายประเทศนำมาใช้จะยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาได้ในระยะเวลาอันสั้น หากแต่ผลทางอ้อมของมาตรการเหล่านี้ คือการไหลของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจากประเทศที่ดำเนินมาตรการ ไปลงทุนยังสินทรัพย์ทางการเงินในประเทศที่ให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าดึงดูดใจกว่าการลงทุนในประเทศตนเอง

ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทย โดยในปีที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยกว่า 76,390 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ (เฉพาะตราสารที่มีอายุมากกว่า 1 ปี) อีกกว่า 243,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2556 เศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศทั่วโลกจะปรับตัวดีขึ้น วิกฤตการเงินในกลุ่มสหภาพยุโรป และปัญหาหน้าผาทางการคลังของสหรัฐฯ น่าจะมีความชัดเจน และนำไปสู่ทางออกของการแก้ปัญหาในที่สุด

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของหลายๆประเทศที่คาดว่าจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน จะมีผลทำให้กระแสเงินลงทุนจากต่างชาติยังคงไหลเข้าสู่ตลาดการเงินของไทยอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน แต่จะไหลเข้าในปริมาณที่สูงเหมือนเช่นปี 2555 หรือไม่นั้น อาจต้องพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ปัจจัยที่ 3 คือ เรื่องของอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนภายในประเทศไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ประกอบกันไปด้วย เนื่องจากในปี 2555 การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี และ 10 ปีของไทยล่าสุด อยู่ที่ 2.9% และ 3.5% ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าผลตอบแทนจากพันธบัตรของประเทศที่มีความน่าเชื่อถือในระดับใกล้เคียงกันกับประเทศไทย อย่างเช่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย และอยู่ในระดับที่สูงกว่าผลตอบแทนจากจากพันธบัตรของประเทศที่มีความน่าเชื่อถือสูงกว่าประเทศไทยอย่างเช่น เกาหลีใต้ และด้วยผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับที่น่าดึงดูดใจนี้ ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าจะมีเม็ดเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และช่วยผลักดันให้บรรยากาศการลงทุนในปี 2556 อยู่ในภาวะที่ดีเช่นเดียวกับปีที่แล้ว

และด้วยปัจจัยทั้ง 3 ส่วนตามที่ได้กล่าวมาแล้ว หากในปี 2556 นี้ไม่มี ปัจจัยที่ 4 คือเหตุการณ์อื่นๆ ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ อย่างเช่นภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือความวุ่นวายทางการเมืองที่เกินความสามารถในการควบคุมจนส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนแล้ว เราก็อาจคาดการณ์ในเบื้องต้นได้ว่าภาพรวมของการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยคงจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากปี 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งท้ายสุดแล้วตลาดจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับที่ได้คาดการณ์เอาไว้หรือไม่นั้น ยังคงเป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น