นักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญ เห็นตรงกันว่า เงินร้อนจากต่างชาติไหลเข้าลงทุนในตลาดตราสารหนี้เป็นหลัก ส่วนความร้อนแรงของตลาดหุ้น และตลาดอสังหาริมทรัพย์ เกิดจากการลงทุนของนักลงทุนไทย “กิตติ” แนะแบงก์ชาติออกกฎเพิ่มเงินดาวน์เพื่อชะลอความร้อนแรงภาคอสังหาฯ
นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวในการสัมมนา “Hot Money เงินทะลักเข้าไทย ผลกระทบเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์” โดยประเมินว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีเงินต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรจำนวนมาก ทำให้ยอดการถือครองตราสารหนี้ของต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 100,000 ล้านบาท จากยอดถือครองตราสารหนี้ของต่างชาติทั้งหมด 800,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตราสารระยะยาว 500,000 ล้านบาท และตราสารระยะสั้น 300,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่เงินต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดี และผลตอบแทนต่อการลงทุนสูงกว่าประเทศอื่น ซึ่งระยะสั้นเชื่อว่าเงินทุนต่างชาติจะยังไม่ไหลออกจากไทย แต่ระยะยาวขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น เพราะหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น และยกเลิกการใช้มาตรการ QE เงินทุนต่างชาติจะไหลออกกลับไปยังสหรัฐอเมริกาแน่นอน ดังนั้น ประเทศไทยควรที่จะต้องมีมาตรการเตรียมตั้งรับสถานการณ์เงินไหลออกไว้ด้วย
ส่วนข้อเสนอที่ต้องการให้คณะกรรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.75 เพื่อลดส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับดอกเบี้ยต่างประเทศ หวังจะชะลอการไหลเข้าเงินทุนเพื่อลดแรงกดดันไม่ให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากนั้น นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ย เพราะแม้ส่วนต่างดอกเบี้ยจะลดลง แต่ถ้าเศรษฐกิจดี เงินบาทจะแข็งค่าต่อ เพราะเศรษฐกิจของยุโรป อเมริกามีปัญหา ในทางตรงกันข้าม จะเพิ่มแรงกดดันทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ประชาชนจะนำเงินออมไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งมีความน่าเป็นห่วงมากกว่า
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจ การเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในเดือนเมษายนนี้ ธปท.จะมีการปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2556 ใหม่ จากเดิมคาดการณ์ว่าจะเติบโตร้อยละ 4.9 รวมทั้งปรับการคาดการณ์การส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 9 และอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 2.8 เนื่องจากมีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนของภาครัฐ ซึ่ง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะเป็นการนำร่องให้เอกชนลงทุนตาม อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังให้น้ำหนักที่ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ยังต้องติดการแก้ปัญหาของเศรษฐกิจยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น รวมทั้งแรงกดดันเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้น จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการแย่งตลาดแรงงานของผู้ประกอบการ
ส่วนความร้อนแรงของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้มาจากการลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของนักลงทุนในประเทศเอง ที่ซื้อหุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็ก เพราะเงินต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดหุ้นน้อยกว่าตลาดตราสารหนี้ ดังนั้น ควรที่จะแยกแยะว่าเงินร้อนเข้ามาลงทุนในตลาดใด เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์เฉพาะเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต พัทยา และคอนโดมิเนียมหรู ไม่ได้เข้ามาลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด
นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูลย์ ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เปิดเผยว่า ยังไม่กังวลว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะเกิดภาวะฟองสบู่ แม้การขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้จะสูงมาก สาเหตุเพราะปี 2554 เกิดปัญหาน้ำท่วมทำให้การเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ชะลอลง ดังนั้น กำลังซื้อจึงกลับมาเติบโตตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และโครงการลงทุนภาครัฐ 2 ล้านล้านบาทต่อเนื่อง 7 ปี ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น ส่งผลให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยปีนี้ ซึ่งเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่น่าจะจะขยายตัวได้ร้อยละ 15
ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับกระแสเงินร้อนจากต่างชาติที่ไหลเข้าประเทศไทยนั้น นายกิตติ ยอมรับว่า เงินที่ไหลเข้ามีผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่มาก เพราะส่วนใหญ่จะเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้นเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการไหลเข้ามาระยะสั้น
ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการที่ดูแลชัดเจน และป้องกันปัญหาฟองสบู่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มสัดส่วนการวางเงินดาวน์ จากปัจจุบันที่ ธปท.กำหนดให้ต้องวางเงินดาวน์ ร้อยละ 5-10 ของราคาที่อยู่อาศัย เพิ่มเป็นร้อยละ 20 ของราคาที่อยู่อาศัย ทั้งในส่วนบ้านหลังแรก และคอนโดฯ และเพิ่มเป็นร้อยละ 30 สำหรับบ้านหลังที่ 2 เพื่อชะลอความร้อนแรง