xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ชี้บาทแข็งกระทบส่งออก แจงผลดี-เสีย ทางเลือก ธปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจ้ยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบค่าเงินบาทจาก 3 กรณี หากค่าเฉลี่ย 27.90 บาท ส่งออกอาจโตแค่ 2.5% จีดีพีโตแค่ 3% หากค่าเฉลี่ย 28.90 บาท ส่งออกโต 6.5% จีพีดีโต 4.2% และกรณีพื้นฐานยังรักษาค่าเฉลี่ยได้ที่ 29.50 บาท ส่งออกโต 10.5% จีพีดีโต 4.8% พร้อมประเมินข้อดี-ข้อเสีย แล้วแต่เครื่องมือที่ ธปท.จะเลือกใช้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของเงินบาทนับจากต้นปี 2556 เป็นไปในจังหวะที่ค่อนข้างรวดเร็ว และเป็นทิศทางที่แตกต่างไปจากหลายสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 29.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 20 มีนาคม 2556 ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปี ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 5% จากระดับ ณ ปลายปี 2555 ตอกย้ำภาพการแข็งค่าที่ฉีกตัวทิ้งห่างทุกสกุลเงินในเอเชีย

โดยเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุลในภูมิภาคเดียวกัน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 5% ค่่าเงินเปโซฟิลิปปินส์ แข็งค่าขึ้น 0.7% และค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น 0.3% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิสะสมในตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้นไทย 2.59 แสนล้านบาท และ 6.54 พันล้านบาท แล้วนับจากต้นปี 2556 ตามลำดับ

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น จากการวิเคราะห์ความอ่อนไหวของเศรษฐกิจไทยต่อสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทที่ค่อนข้างรวดเร็ว และแตกต่างไปจากสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค โดยประเมินว่า ค่าเฉลี่ยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1.0% อาจมีผลกระทบราว 0.1-0.3% ต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2556

อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามผลกระทบการแข็งค่าของเงินบาทที่อาจมีความต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้าต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะยิ่งระดับเงินบาทแข็งค่าขึ้น ผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทยก็อาจขยายวงกว้างมากขึ้นตามไปด้วยเพราะโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาฐานการผลิตภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 3 กรณี

กรณีค่าเฉลี่ยเงินบาทอยู่ที่ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นไปตามกรณีพื้นฐานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์การส่งออกเติบโต 10.5% ในกรอบ 8.0-13.0% จีดีพีโต 4.8% ในกรอบ 4.3-5.3% กรณีค่าเฉลี่ยเงินบาทอยู่ที่ 28.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกเติบโต 6.5% จีดีพีโต 4.2% และกรณีค่าเฉลี่ยเงินบาทอยู่ที่ 27.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกเติบโต 2.5% จีดีพีโต 3%

นอกจากนี้ ยังได้สรุปข้อดี-ข้อเสียของทางเลือกของเครื่องมือดูแลการเคลื่อนไหวเงินบาท โดยหากใช้การลดส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยและต่างประเทศ หรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงนั้น วิธีการนี้อาจจะลดแรงจูงใจในการเพิ่มการลงทุนในตลาดการเงินไทย โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ได้ และลดต้นทุนในการดูดซับสภาพคล่องส่วนของ ธปท.ลดลง แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้อย่างเด็ดขาดว่าชะลอ หรือยุติกระแสเงินไหลเข้า และการลดดอกเบี้ยอาจจะเพิ่มความร้อนแรงของสินเชื่อครัวเรือน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความเป็นห่วงอยู่

ขณะที่การแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศนั้น จะช่วยชะลอการแข็งค่าและลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้เป็นระยะๆ เท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทได้ และยังเป็นภาระต่องบดุลของ ธปท.ด้วย ส่วนการออกมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนนั้น มีผลโดยตรงต่อการกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุน ลดแรงจูงใจในการเก็งกำไรค่าเงิน แต่ก็เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด และกำหนดระดับความเข้มงวดได้อย่างพอดี เพราะส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับผลทางจิตวิทยา

และการปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดอย่างเสรี วิธีนี้จะช่วยเร่งให้สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับตลาดการเงินให้เกิดขึ้น และสิ้นสุดเร็วขึ้น ซึ่งจะไม่เป็นภาระต่อเนื่องในการแทรกแซงให้แก่ ธปท. แต่ความผันผวนที่สูงในตลาดเงินอาจส่งผลเสียหายต่อภาคการส่งออกไทยที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยในต่างประเทศอยู่แล้ว ส่งผลให้จีดีพีในปีนี้อาจชะลอตัวกว่าที่ประมาณการไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น