ผู้ช่วยเอ็มดี Thai BMA เผยต่างชาติยังโยกเงินเข้าลงทุนตลาดบอนด์ต่อเนื่อง ยอดถือครองสุทธิแตะ 7.9 แสนล้าน ชี้ไทยยังห่างไกลภาวะฟองสบู่
น.ส.อริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai BMA) เปิดเผยว่า นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยในปีนี้ยังมีการซื้อสุทธิเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี แต่ก็ไม่ได้เป็นระดับที่มากผิดปกติอะไรที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นมาก เพราะปัจจัยที่กระทบเรื่องของค่าเงินนั้นมีหลายปัจจัยด้วยกัน
ทั้งนี้ ยอดซื้อสุทธิที่โผล่มาก 20,000 ล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นรายการที่เกิดขึ้นพิเศษ ไม่ใช่รายการปกติเป็นการเข้ามาซื้อพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ ซึ่งมีแผนจะกระจายให้นักลงทุนต่างประเทศอยู่แล้วประมาณ 50% จากวงเงินที่ออก 40,000 ล้านบาท
น.ส.อริยา กล่าวว่า ถ้ามองโดยภาพรวมแนวโน้มการซื้อของนักลงทุนต่างชาติในเดือน ก.พ.56 ก็ลดลงเหลือ 81,000 ล้านบาท จากเดือน ม.ค.56 ที่ 110,000 ล้านบาท ทำให้ยอดถือครองสุทธิต่างชาติไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมา ต่างชาติซื้อเดือนละ 10,000 ล้านบาท ก็ไม่ได้มากมายอะไร
อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงมีข้อมูล และติดตามดูเงินร้อนที่อาจจะมาสร้างปัญหาอยู่แล้ว หากมีอะไรทาง ธปท.ก็คงมีมาตรการที่พร้อมจะออกมาดูแลปัญหาเพื่อดูแลค่าเงินบาท ตลอดจนการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติได้อยู่แล้ว แต่สัญญาณที่เห็นจากการลงทุนในตลาดตราสารหนี้เองไม่ได้พบอะไรที่ผิดปกติแต่ประการใด
น.ส.อริยา กล่าวอีกว่า เงินลงทุนที่เข้ามาของต่างชาติในช่วงหลังพบว่า มีการกระจายไปลงทุนในตราสารหนี้อายุยาวมากขึ้น จากเดิมในช่วงต้นปีที่เงินใหม่ที่เข้ามาจะเข้าลงทุนในตราสารหนี้อายุสั้นค่อนข้างมากประมาณ 90% แต่ตอนนี้ก็มีกระจายเข้ามาในตัวยาวมากขึ้นประมาณ 40% ซึ่งในตลาดการลงทุนคงมีทั้งนักลงทุนที่เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น และนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนจริงๆ
ทั้งนี้ นักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบันที่มีกลยุทธ์ในการลงทุนค่อนข้างชัดเจน และหากมองดูจากยอดถือครองสุทธิของต่างชาติในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 9.32% ของมูลค่าตลาดตราสารหนี้คงค้างรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 55 ที่ 8.3% แต่สัดส่วนของการถือครองตราสารหนี้ระยะยาวก็ยังมากกว่าคือประมาณ 65% ในขณะที่เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 35% เปลี่ยนแปลงจากสิ้นปี 55 เล็กน้อย ที่มีสัดส่วนของตราสารหนี้ระยะยาว 70% และตราสารหนี้ระยะสั้น 30% ก็ยังเห็นว่าเป้นเงินที่เข้ามาลงทุนระยะยาวเป็นส่วนใหญ่
ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยของไทย 2.75% ในขณะที่สหรัฐฯ อยู่ 0.25% แนวโน้มเงินทุนต่างชาติก็ยังไหลเข้าในตลาดเกิดใหม่ทั้งหุ้น และตราสารหนี้อย่างต่อเนื่องรวมทั้งไทยด้วยเช่นกัน เพราะผลตอบแทนมากกว่าชัดเจนนี่ยังไม่รวมกำไรที่จะได้จากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ถึงไทยจะลดดอกเบี้ยลงก็ยังคงให้ผลตอบแทนมากกว่าอยู่นั่นเอง เงินทุนต่างชาติจึงยังมีแนวโน้มที่จะไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ไทยต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดอื่นในภูมิภาค
ส่วนเงินทุนจะเข้าประเทศไหนมากหรือน้อยนั้น คงขึ้นกับการจัดสรรเงินของต่างชาติที่เขามองไว้เป็นหลัก แต่โอกาสที่จะเกิดฟองสบู่ในตลาดตราสารหนี้เหมือนในตลาดหุ้นคงยาก เพราะตลาดตราสารหนี้ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบันเป็นผู้เล่นหลัก กลยุทธ์การลงทุนค่อนข้างชัดเจนจึงไม่น่ากังวลในประเด็นนี้แต่ประการใด