xs
xsm
sm
md
lg

จับตาเม็ดเงินต่างชาติในตลาดบอนด์ 7.9 แสนล้าน และโอกาสในการลด ดบ.นโยบายครั้งต่อไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์
สมาคมตราสารหนี้ เผยยอดถือครองตราสารหนี้ของต่างชาติสุทธิ 7.9 แสนล้านบาท สัดส่วนระยะสั้นเพิ่มเป็น 37% คาดเงินยังไหลเข้าต่อเนื่อง เพราะสภาพคล่องที่ยังล้นมาจากประเทศญี่ปุ่น และยุโรป

นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวถึงภาพรวมตลาดการเงินหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยพบว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงมีการซื้อต่อเนื่อง โดยช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานี้ ซื้อเฉลี่ยวันละ 4-5 พันล้านบาท ในขณะที่อัตราผลตอบแทน (yield curve) ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 3.2%

แม้ว่าบางส่วนจะดึงเงินกลับจากข้อกังวลเรื่องธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะถอนมาตราผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เร็วกว่ากำหนดเดิม แต่สภาพคล่องยังล้นมาจากประเทศญี่ปุ่น และยุโรป จึงคิดว่าเงินทุนยังจะไหลเข้าตลาดพันธบัตร

“คาดว่านักลงทุนต่างชาติจะถือพันธบัตรอายุสั้นมากขึ้น โดยเฉพาะที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี จากปีที่แล้วที่ 30% มาเป็น 37% ของยอดถือคงค้าง 7.9 แสนล้านบาทในปีนี้ เงินอาจจะไหลออกจากตลาดพันธบัตร หากรัฐบาลมีมาตรการสกัดการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้น หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ลดดอกเบี้ย เพื่อสกัดการไหลบ่าของเงินทุนต่างชาติ”

นายนิวัฒน์ ยอมรับว่า แม้นักลงทุนบางส่วนจะดึงเงินกลับจากข้อกังวลเรื่องธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะถอนมาตราคิวอีเร็วกว่ากำหนดเดิม แต่สภาพคล่องยังล้นมาจากประเทศญี่ปุ่น และยุโรป จึงคิดว่าเงินทุนยังจะไหลเข้าตลาดพันธบัตร

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ตอนนี้ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างนิ่ง ทั้งก่อน และหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา อาจเพราะตลาดส่วนใหญ่มองว่าไม่น่าจะมีการลดดอกเบี้ยนโยบาย แม้จะมีโอกาสในการประชุมครั้งนี้

“มีนักลงทุนสถาบันในประเทศเพียงบางส่วนที่อาจมีการขยายอายุตราสารออกไป เพื่อลุ้นการลดดอกเบี้ยอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก จึงทำให้ก่อนการประชุม และหลังการประชุมอัตราผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้ (YIELD) ในตลาดมีความผันผวนในกรอบแคบเพียงเล็กน้อย แต่ภาพรวมค่อนข้างนิ่ง และทรงตัว”

หากมองสถานการณ์ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ น.ส.อริยา เชื่อว่า โอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจะมีน้อยลง ทั้งจากปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันที่จะกดดันทิศทางดอกเบี้ยในประเทศมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น