xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนท่ามกลางความผันผวนของค่าเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากมองย้อนกลับไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาของวิกฤตหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และปัญหาความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สถานการณ์ในช่วงเวลานั้นมีผลทำให้เกิดกระแสเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าสู่ประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตามความแข็งแรงของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่สามารถขยายตัวอยู่ในระดับที่ดีกว่า แต่สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในปริมาณมาก จนกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปกว่า 3.3% (จากระดับ 30.7 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายปี 2555 มาอยู่ที่ระดับ 29.7 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 21 ม.ค. 2556) โดยเป็นผลมาจากสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินของโลก อันเกิดจากแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศผ่านมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของตนเอง

ทั้งนี้ นักลงทุนบางกลุ่มมีการประเมินว่าทิศทางของค่าเงินบาทไทยในปีนี้อาจมีโอกาสแข็งค่าจนถึงระดับ 28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หากสถานการณ์การไหลเข้าของเม็ดเงินต่างชาติยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการไหลเข้าของเม็ดเงินในรอบนี้เริ่มแสดงให้เห็นถึงสัญญาณหรือความเป็นไปได้ของการเก็งกำไรในอัตราแลกเปลี่ยน รวมไปถึงการเก็งกำไรในตลาดหุ้น และในตราสารหนี้ระยะสั้น จนก่อให้เกิดความกังวลตามมาว่า หากกระแสเงินลงทุนมีการเปลี่ยนทิศทางหรือเกิดการไหลออกอย่างฉับพลันจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาทไทย และราคาของหลักทรัพย์ทั้งในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดในขณะนี้ คือแนวโน้มหรือความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการนำนโยบายทางการเงินหรือมาตรการใดๆ ออกมาใช้เพื่อดูแลเสถียรภาพของเงินบาทไม่ให้เกิดความผันผวนหากเกิดการเปลี่ยนทิศของกระแสเงินทุน และถึงแม้ว่า ธปท.จะออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาทในปัจจุบันว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงการเฝ้าติดตามการเก็งกำไรในอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดแล้วก็ตาม แต่นักลงทุนยังคงให้ความสำคัญต่อทุกมาตรการที่ ธปท.อาจจะนำออกมาใช้ เนื่องจากจะมีผลต่อการลงทุนด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้อาจจะไม่ได้รับผลกระทบในส่วนที่เกี่ยวกับการปรับตัวลดลงด้านราคามากนัก เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วราคาตราสารหนี้มักมีการเคลื่อนไหวอยู่เพียงในช่วงแคบๆ โดยเฉพาะสำหรับการลงทุนที่เป็นการถือครองตราสารหนี้เอาไว้จนครบกำหนดไถ่ถอน (Hold to Maturity) ที่ไม่ว่าอย่างไรผู้ลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทนในอัตราที่ค่อนข้างแน่นอน แต่หากเป็นการซื้อตราสารหนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็งกำไรในช่วงเวลาสั้นๆ โอกาสที่จะได้รับผลกระทบทางด้านราคาหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันก็จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าตามไปด้วย

สำหรับประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP 1 วัน) ที่หลายฝ่ายกำลังจับตามองว่าจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด และจะมีโอกาสปรับลดลงหรือไม่ โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.75% ต่อปีในปัจจุบัน ธปท.มีความเห็นว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศไทยแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ธปท.พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินรวมถึงอัตราดอกเบี้ยให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ โดยจะพิจารณาถึงเสถียรภาพโดยรวมของประเทศเป็นหลัก จึงเป็นที่น่าติดตามต่อไปว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบถัดไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ก.พ. 2556 นี้ ธปท.จะมีความคิดเห็น รวมถึงมีการตัดสินใจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างไรต่อไป

โดยพอพิศ ยอดแสง
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
porpit@thaibma.or.th


กำลังโหลดความคิดเห็น