xs
xsm
sm
md
lg

ความกังวลเรื่องค่าของเงินบาท และการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สุชาติ ธนฐิติพันธ์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ในวันพุธ (20 ก.พ) ที่จะถึงนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทยมีกำหนดการที่จะประชุมหารือเพื่อทำการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินเป็นนัดที่ 2 ของปี โดยประเด็นสำคัญที่นักลงทุนในตลาดกำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ คงหนีไม่พ้นในเรื่องของการตัดสินใจด้านดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 1 วัน) ว่าจะมีการปรับลดตามที่หลายๆฝ่ายได้ส่งแรงกดดันไปยัง ธปท. ตลอดช่วงระยะเวลา 1 - 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหรือไม่

หลังจากเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือคิดเป็นการแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.35% ภายในช่วงเวลา 1.5 เดือน อย่างไรก็ตาม ธปท. ได้ออกมาส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องเช่นกันว่าจะพิจารณาระดับของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมจากปัจจัยหลายๆด้านด้วยกัน ทั้งด้านเสถียรภาพของราคาสินค้า (เงินเฟ้อ) ภาวะฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ตัวเลขหนี้ในภาคครัวเรือน แทนที่จะให้น้ำหนักไปในเรื่องของตัวเลขการส่งออกที่อาจจะได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าเพียงอย่างเดียวครับ

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นประเด็นที่มีความน่าสนใจและน่าทำการวิเคราะห์เพิ่มเติม ว่าทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาจะดำเนินต่อไปในทิศทางใด และจะมีผลอย่างไรต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยครับ โดยที่เราอาจแบ่งประเด็นของการวิเคราะห์ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ (1) การแข็งค่าของเงินบาทในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เป็นการแข็งค่าอย่างรวดเร็วจนอยู่ในระดับที่น่ากังวลหรือไม่ (2) การลดดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยให้เงินบาทชะลอการแข็งค่าได้มากน้อยเพียงใด และ (3) หาก ธปท. ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย จะส่งผลอย่างไรต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย โดยในประเด็นแรกนั้น หากลองศึกษาข้อมูลย้อนกลับไปในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 - ปัจจุบัน จะพบว่าประเทศไทยเคยผ่านสถานการณ์ที่เงินบาทแข็งค่าและอ่อนค่าสลับกันไปในหลายๆช่วงเวลา

โดยในช่วงระหว่างเดือน ส.ค. - ต.ค. 2552 เงินบาทแข็งค่าไปกว่า 8.2% ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน หรือในช่วงเดือน ก.ค. 2554 และเดือน ก.พ. 2555 ที่เราพบว่าเงินบาทแข็งค่ากว่า 3.9% และ 4.5% ตามลำดับ ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 1 เดือน ดังนั้นการแข็งค่าของเงินบาทในช่วง 1.5 เดือนที่ผ่านมา จึงอาจถือได้ว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 3 - 4 ปีก่อนหน้า ทั้งนี้ หากพิจารณาเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2555 จนถึงปัจจุบัน (7 เดือน) เราจะพบว่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องไปแล้วกว่า 6.3% แต่ยังถือได้ว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2552 ที่เงินบาทแข็งค่าถึง 11% ภายในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งสถิติต่างๆ ทั้งหมดนี้น่าจะช่วยคลายความกังวลที่กำลังเกิดขึ้นว่าการแข็งค่าของเงินบาทในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นการแข็งค่าอย่างฉับพลันจนก่อให้เกิดผลเสียอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศไทยแต่อย่างใด

สำหรับประเด็นถัดมา ที่หลายฝ่ายกำลังตั้งคำถามว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. จะช่วยให้เงินบาทชะลอการแข็งค่าได้มากน้อยเพียงใดนั้น หากพิจารณาตัวเลขดอกเบี้ยของประเทศอื่นๆที่อยู่ในกลุ่มภูมิภาคเดียวกันกับประเทศไทยแล้ว จะพบว่าอัตราดอกเบี้ย (หรือผลตอบแทนของตราสารหนี้) ภายในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเกาหลี ต่างก็อยู่ในระดับที่สูงกว่าดอกเบี้ยภายในประเทศไทย ขณะที่สกุลเงินของประเทศเหล่านี้กลับอ่อนค่าลงในช่วง 1.5 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถือได้ว่าสอดคล้องกับเหตุผลของการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนระหว่างประเทศ ที่เจ้าของเงินลงทุนไม่ได้พิจารณาในมุมของอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่ยังพิจารณาจากแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ความน่าเชื่อของประเทศ และโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนควบคู่กันไปด้วยครับ โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในกลุ่มของประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับที่ค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ปัจจัยเหล่านี้จึงมีผลดึงดูดให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้แล้ว หากพิจารณาย้อนกลับไปในแต่ละช่วงเวลาที่ประเทศไทยเคยเผชิญกับสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าตามที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น จะพบว่า ธปท. ไม่ได้ทำการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดกั้นการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนแต่อย่างใด โดย ธปท. ยังมีมาตรการอื่นๆ เพื่อใช้ในการป้องปรามการเก็งกำไรในค่าเงินบาท และมาตรการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการไหลออกของเม็ดเงินทุนจากนักลงทุนภายในประเทศไปสู่ตลาดต่างประเทศควบคู่กันไปด้วย ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า การปรับลดดอกเบี้ยภายในประเทศให้ต่ำลง อาจไม่ได้มีผลชะลอการไหลเข้าของกระแสเงินทุนต่างชาติโดยตรงครับ เนื่องจากทิศทางการไหลเข้า-ออก ของเม็ดเงินดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือไปจากเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวตามที่ได้กล่าวไปแล้วนั่นเอง

สำหรับในประเด็นสุดท้าย หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลทำให้อัตราผลตอบแทน หรือ Yield ของการลงทุนในพันธบัตรปรับตัวลดลงตามไปด้วย ซึ่ง Yield ที่ลดลงจะมีผลทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ในปัจจุบันเราจึงพบว่าเริ่มมีแรงซื้อเข้ามาในตลาดตราสารหนี้มากขึ้นในทุกๆ ช่วงอายุของตราสาร

และหากพิจารณาโดยภาพรวมในระยะยาวแล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจำเป็นต้องได้รับแรงกระตุ้นจากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยในระดับต่ำ เช่นเดียวกับที่ธนาคารกลางของหลายๆประเทศทั่วโลกกำลังนำมาใช้อยู่ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ระดับใด ธปท. จะเป็นผู้พิจารณาจากปัจจัยทั้งหมดที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบครับ แต่สำหรับในมุมของนักลงทุนที่กำลังมองหาช่องทางการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนในระดับที่ดีกว่าเงินฝากธนาคาร และมีความเสี่ยงของการลงทุนในระดับที่ต่ำกว่าการซื้อขายหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนในตราสารหนี้ยังถือได้ว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจในปัจจุบันครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น