xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร-กิตติรัตน์” ใครต้องสำนึก

เผยแพร่:   โดย: สุนันท์ ศรีจันทรา

ความขัดแย้งระหว่างนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังปะทุขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากความเห็นที่แตกต่างจากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย และนำไปสู่กระแสการปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

นายกิตติรัตน์ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ต้องการให้แบงก์ชาติประกาศลดดอกเบี้ย เพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้า ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ค่าเงินบาทแข็ง และส่งผลกระทบต่อการส่งออก

สัญญาณถูกส่งมาทั้งทางตรง โดยการแสดงจุดยืนของนายกิตติรัตน์ และทางอ้อม ผ่านนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกผลักดันจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรให้เข้ามากุมแบงก์ชาติ

แต่นายประสารไม่ยอมตอบสนองความต้องการของนายกิตติรัตน์ โดยระบุว่า เงินทุนที่ไหลเข้า ไม่ได้เกิดจากอัตราดอกเบี้ยเพียงองค์ประกอบเดียว และการลดดอกเบี้ยก็ต้องพิจารณาผลข้างเคียงอื่นด้วย

การกดดันให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้เพื่อการสกัดกั้นเงินทุนต่างชาติเพียงประการเดียว แต่ยังหวังผลกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย

ส่วนแบงก์ชาติกลัวว่า การลดดอกเบี้ยจะกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อ และนำไปสู่การสร้างฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ จึงแข็งขืนมาตลอด หลังจากโอนอ่อนผ่อนตามสถานการณ์ ลดดอกเบี้ยไปแล้วครั้งหนึ่ง

มุมมองที่แตกต่างกันในนโยบายดอกเบี้ย นำไปสู่ความขัดแย้งที่ขยายวง และสุดท้ายอาจถึงจุดแตกหัก เกิดการปลดและเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

แต่สิ่งที่สังคมต้องการคำตอบคือ ใครผิดใครถูก ใครคำนึงถึงระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศมากกว่ากัน ใครตระหนักถึงความเสียหายของประเทศมากกว่ากัน และใครเป็นห่วงเป็นใยต่ออนาคตชาติมากกว่ากัน

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าฯ แบงก์ชาติกับนายกิตติรัตน์ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่นายกิตติรัตน์เข้ามาดูแลเรื่องเศรษฐกิจแล้ว

นายกิตติรัตน์ป้วนเปี้ยนวนเวียนอยู่กับแบงก์ชาติบ่อยครั้ง พยายามหาทางนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้ โยนภาระการแก้ปัญหากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้แบงก์ชาติแก้ไข ซึ่งนายประสารต้องยอมหวานอมขมกลืนในบางกรณี แต่จะยอมในทุกกรณีไม่ได้

เพราะถ้ายอมตามใจนายกิตติรัตน์ ยอมตามที่รัฐบาลร้องขอ ระบบการเงินของประเทศอาจพังพินาศได้ โดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ซึ่งมุ่งการสร้างคะแนนนิยม เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ไม่มองผลกระทบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจในระยะยาว

และแบงก์ชาติไม่ได้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเอาใจนักการเมือง แต่ถูกตั้งให้มีลักษณะองค์กรอิสระ ปราศจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติในอดีตเกือบทุกคน ไม่ยอมก้มหัวให้นักการเมือง ไม่ยอมให้การเมืองแทรกแซง และพร้อมที่จะถูกปลด โดยไม่ห่วงตำแหน่ง เพื่อรักษาศักดิ์ศรีแบงก์ชาติ

มีเพียงอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเพียงบางคนเท่านั้นที่ยอมก้มหัว นำการเมืองเข้ามาในแบงก์ชาติ และทำให้แบงก์ชาติตกต่ำอยู่พักใหญ่

คำว่าศักดิ์ศรีความเป็นธนาคารกลาง นายกิตติรัตน์ไม่มีวันเข้าใจ เพราะไม่ได้เติบโตมาจากแวดวงการเงิน และถ้าไม่ได้สนิทชิดเชื้อรับใช้กลุ่ม “ชินวัตร” ก็คงไม่มีโอกาสได้ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีคลัง แต่เมื่อมาเป็น ต้องทำอะไรให้ได้ดั่งใจ

เมื่อผู้ว่าฯ แบงก์ชาติแข็ง สั่งการไม่ได้ จึงส่งนายวีรพงษ์เข้ามากำกับ โดยหวังว่า จะทำให้แบงก์ชาติสนองนโยบายรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งนายวีรพงษ์ก็พยายามทำตามจุดมุ่งหมายของคนที่ส่งเข้ามาเต็มที่ ถึงขนาดเป็นประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติ แต่กลับไม่ฟังข้อมูลคนแบงก์ชาติ แถมยังถล่มแบงก์ชาติแทนนายกิตติรัตน์เสียอีก

นายวีรพงษ์จึงมีเพียงแค่ตำแหน่งประธานฯ แบงก์ชาติ แต่ไม่มีบารมีกับคนแบงก์ชาติ

สัญญาณการลดดอกเบี้ยที่ส่งออกมา แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากแบงก์ชาติ ทำให้นายกิตติรัตน์หัวฟัดหัวเหวี่ยง และเปิดปฏิบัติที่รัฐบาลชุดนี้นิยมใช้ โดยแสดงพฤติกรรมข่มขู่ ด้วยการออกหนังสือถึงนายวีรพงษ์ และระบุให้นายวีรพงษ์อ่านในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เนื้อหาของหนังสือต้องการให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดเงินทุนไหลเข้า ซึ่งเป็นต้นเหตุของค่าบาทแข็ง และเตือนว่า แบงก์ชาติต้องรับผิดชอบหากประเทศเสียหาย ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ และรองฯ อีก 3 คน ซึ่งเป็น 3 ใน 7 ของคณะกรรมการ กนง.ต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบ

ถ้าแบงก์ชาติอยู่ในฐานะที่จะออกหนังสือถึงนายกิตติรัตน์ได้ ก็คงออกหนังสือเตือนเหมือนกันว่า รัฐมนตรีคลังต้องรับผิดชอบหากประเทศเสียหาย นายกิตติรัตน์ต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบเหมือนกัน

ไม่เคยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ส่งหนังสือไปกดดันแบงก์ชาติ แต่ถึงนายกิตติรัตน์จะแสดงพฤติกรรมข่มขู่ นายประสารก็ไม่หวั่นไหวต่อการคุกคาม

การปะทะระหว่างนายกิตติรัตน์กับนายประสาร เกิดขึ้นหลายครั้งและหลายกรณีแล้ว แต่ความขัดแย้งการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยอาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย

นายประสารรู้ดีว่า ต้องรับแรงกดดันเพียงใด แต่เชื่อมั่นได้ว่า ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนนี้จะไม่ยอมลาออก และนายกิตติรัตน์ก็ไม่มีบารมีมากที่จะกดดันให้นายประสารลาออก

แต่พร้อมจะถูกปลดมากกว่า

ส่วนนายกิตติรัตน์ก็มีแรงกดดันเหมือนกัน เพราะ 1 ปีเศษมาแล้วที่เข้ามาทำหน้าที่ขุนพลเศรษฐกิจ ยังไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน จนมีข่าวว่าจะถูกเปลี่ยนตัวเป็นระยะ จึงมีความจำเป็นต้องเร่งสร้างผลงาน

ความขัดแย้งในนโยบายดอกเบี้ย ทั้งนายกิตติรัตน์และนายประสาร มีตำแหน่งเป็นเดิมพันเหมือนกัน แตกต่างอยู่ที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคำนึงถึงอนาคตของประเทศศักดิ์ศรีขององค์กรมากกว่าตำแหน่งของตัวเอง

แต่ขุนคลังคนนี้ มีคำถามว่าคำนึงถึงตำแหน่งตัวเองเหนือสิ่งอื่นใดหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น