xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดบอนด์ไทยปี 56 คึก ศก.สหรัฐฯ-ยุโรปหนุนเงินไหลเข้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชี้ตราสารหนี้ไทยยังน่าลงทุน คาดปี 56 ยังขยายตัวต่อเนื่อง เงินยังไหลเข้าเอเชียจากสภาพคล่องที่สูง และสหรัฐฯ กับยุโรปยังมีปัญหา จับตาเงินเฟ้อในครึ่งปีหลัง คาดอาจต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยควบคุม

นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวถึงภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยตลอดทั้งปี 2555 ที่ผ่านมาว่า ตลาดตราสารหนี้มีการขยายตัวในทุกด้าน โดยมีมูลค่าคงค้างทุกประเภทรวมกัน ณ สิ้นปี 2555 เท่ากับ 8.58 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2554 โดยมีพันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจออกเพิ่มขึ้นมากถึง 72% และ 417% ตามลำดับ ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้) มีมูลค่าการออกใหม่ 509400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% จากปีก่อนหน้า ถือเป็นยอดสถิติสูงสุดตั้งแต่มีตราสารหนี้ภาคเอกชนในประเทศไทย เนื่องจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มพลังงานเป็นผู้ออกตราสารหนี้ที่สำคัญ โดยธนาคารพาณิชย์ออกตราสารหนี้ถึง 180210 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการเตรียมตัวในส่วนของเงินทุนสำรองตามเกณฑ์บาเซิล 3

ส่วนตลาดรองมีการซื้อขายตราสารหนี้ตลอดทั้งปี 2555 รวมอยู่ที่ 19.77 ล้านล้านบาท มีการซื้อขายเพิ่มขึ้นที่สำคัญ ได้แก่ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหุ้นกู้ภาคเอกชนประมาณ 300% และ 150% ตามลำดับ

“ตลาดตราสารหนี้ไทยยังเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างประเทศ โดยตลอดทั้งปี 2555 นักลงทุนต่างประเทศถือครองเพิ่มขึ้นกว่า 289783 ล้านบาทมาอยู่ที่ 710500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2554 เป็นสัดส่วนในพันธบัตรรัฐบาลทั้งสิ้น 70% สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งเป็นนักลงทุนที่แท้จริงเพิ่มมากขึ้นในปีที่ผ่านมา และคาดว่าในปีนี้น่าจะมีเงินทุนเข้ามาอีกไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วง 2 สัปดาห์แรกของปี 2556 มีการเข้ามาซื้อแล้วประมาณ 5 พันล้านบาท”

ด้านความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ณ สิ้นปี 2556 เทียบกับสิ้นปี 2554 พบว่า ปริมาณพันธบัตรออกใหม่ (Bond Supply) ที่เพิ่มขึ้นทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30 bp ในตราสารหนี้ระยะยาว สาเหตุที่ทำให้ตราสารไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากแรงซื้อจากนักลงทุนต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในปี 2555 อย่างไรก็ดี การปรับตัวลดลงของดอกเบี้ยนโยบายในเดือนตุลาคม ส่งผลให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้น และปานกลางมีการปรับลดลงหลังประกาศ

ทั้งนี้ แนวโน้มของตลาดตราสารหนี้ในปี 2556 คาดว่าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งจากปัจจัยภายในประเทศ และนอกประเทศ ซึ่งจากความคิดเห็นของผู้ร่วมตลาดทั้งนักลงทุนและผู้ค้าตราสารหนี้คาดว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในปีนี้อยู่ที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤตการคลังของสหรัฐฯ ทั้งปัญหาหน้าผาการคลัง ปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ และแนวโน้มการยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่ยังเหลืออยู่ (QE3 และ QE4) รวมทั้งสถานการณ์ภายในยุโรป และปัจจัยภายในประเทศไทยเองที่นักลทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม คาดว่ามูลค่าการออกตราสารหนี้ในระยะยาวภาคเอกชนตลอดปี 2556 จะอยู่ที่ประมาณ 350000 ล้านบาท โดยทิศทางดอกเบี้ยในประเทศปีนี้คาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในช่วงแคบ ส่วนการซื้อขายในตลาดรองคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นในพันธบัตรรัฐวิสาหกิจและตราสารหนี้ภาคเอกชนตามปริมาณการออกตราสารในตลาดแรก

สำหรับแผนงานของสมาคมตราสารหนี้ในปี 2556 นี้ ที่สำคัญคือแผนส่งเสริมการเพิ่มธุรกรรมด้าน Private Repo ในตลาดรอง โดยผลักดันให้ ธปท.ยกเลิกค่าธรรมเนียม 0.46% และเพิ่มการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เช่นการยืดเส้นภาษีเงินได้จากการลงทุนเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมาแล้วก่อนปี 2553 การผลักดันเข้าสู่ Global Index ในปี 2557 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญทำให้เกิดสภาพคล่องในตลาดรอง

นายบัณฑิต นิจถาวร ประธานกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ (ThaiBMA) กล่าวว่า ในปี 2556 ตลาดจะยังมีความผันผวนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในเรื่องการส่งออก เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ทั้งการอัดฉีดเงินเข้าระบบ และมาตรการดอกเบี้ย ซึ่งก็จะส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดมีมากและทำให้เงินทุนจะวิ่งเข้ามาที่ตลาดเอเชียรวมทั้งประเทศไทยที่ยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี ทำให้ตราสารหนี้ในประเทศไทยยังน่าลงทุน

อย่างไรก็ตาม เงินทุนที่ไหลเข้าเอเชียอาจส่งผลให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น ซึ่งประเทศไทยต้องจับตามองเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท ขณะเดียวกัน มองว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะมีแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่มาจากราคาสินค้าและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังหรืออาจจะมีเร็วในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ดังนั้นเป็นประเด็นที่รัฐจะต้องมองเรื่องการใช้นโยบายดอกเบี้ยเพื่อให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและกระทบต่อค่าครองชีพ


กำลังโหลดความคิดเห็น