โดยพอพิศ ยอดแสง
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด
ThaiBMA
ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีหัวข้อข่าวทางเศรษฐกิจเรื่องใดที่ร้อนแรงไปกว่าความคิดเห็นที่แตกต่างกันในด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทย ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.) ควรปรับลดดอกเบี้ยนโยบายซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.75% ต่อปีให้อยู่ในระดับที่ต่ำลง เพื่อชะลอการไหลเข้าของกระแสเงินลงทุนต่างชาติ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องไปแล้วกว่า 2.4% นับตั้งแต่ต้นปี ในขณะที่ฝ่ายของ ธปท.กลับมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่สาเหตุหลักที่ดึงดูดให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ประกอบเข้าด้วยกัน โดยไม่ได้ให้น้ำหนักไปที่เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียว ซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างกันนี้ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินของไทย โดยเฉพาะในส่วนของตลาดตราสารหนี้ และในวันนี้เราจะมาลองพิจารณาดูว่าแท้ที่จริงแล้วดอกเบี้ยนโยบายมีผลอย่างไรต่อการลงทุนค่ะ
ดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Policy Rate ในความเป็นจริงแล้วหมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศกำหนดขึ้นเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง โดยอัตราดอกเบี้ยอื่นๆ ภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินฝาก หรือแม้แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตร มีแนวโน้มจะขยับตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยสำหรับธุรกรรมการซื้อคืนพันธบัตร 1 วันของ ธปท. (R/P 1 Day) เป็นตัวแทนของดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งโดยหลักการแล้ว คณะกรรมการนโยบายการเงิน มักจะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (ลดดอกเบี้ยให้ต่ำ) ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ หรือในช่วงที่เงินเฟ้อภายในประเทศลดต่ำลง เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และในทางกลับกัน จะใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว (เพิ่มดอกเบี้ยให้สูงขึ้น)
ในภาวะที่เศรษฐกิจร้อนแรงจนระดับของราคาสินค้าสูงขึ้น และระดับเงินเฟ้อภายในประเทศสูงขึ้น โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินแต่ละครั้ง (ประชุมทุกๆ 6 สัปดาห์ หรือปีละ 8 ครั้ง) จะมีการหารือและพิจารณาถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับอัตราเงินเฟ้อ และในบางครั้งอาจมีการพิจารณาปัจจัยด้านการเมืองควบคู่กันไปด้วยค่ะ และไม่ว่าผลการประชุมจะออกมาเป็นอย่างไร ก็มักจะมีผลต่อดอกเบี้ยประเภทอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนหรือผู้ลงทุนด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หาก กนง.มีมติปรับดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้นจากระดับเดิม ก็จะมีผลทำให้ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ หรือผลตอบแทน (Yield) จากการลงทุนในตราสารหนี้ขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย แต่หาก กนง.มีมติปรับดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำลง ดอกเบี้ยประเภทอื่นๆ ก็มีแนวโน้มจะขยับตัวลดลงด้วยเช่นกัน และหาก กนง.มีมติให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม ก็มักจะไม่มีผลต่อดอกเบี้ยประเภทอื่นๆ หรือ Yield ของการลงทุนในตราสารหนี้ค่ะ
ทั้งนี้ เราอาจพิจารณาผลของการปรับดอกเบี้ยนโยบายที่จะมีต่อประชาชนหรือผู้ลงทุนโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ (1) กลุ่มของผู้ฝากเงิน (2) กลุ่มของผู้ที่ลงทุนในตลาดหุ้น และ (3) กลุ่มของผู้ที่ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เริ่มจากกลุ่มของผู้ฝากเงิน ที่มีแนวโน้มจะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยนโยบาย โดยหากมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงินในการที่จะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากในระดับที่ต่ำลง แต่ในทางกลับกันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ทำการกู้ยืมเงินที่มีแนวโน้มจะเสียต้นทุนของการกู้ยืมในระดับที่ถูกลงด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้แล้ว การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายยังส่งผลในเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นอีกด้วย เนื่องจากกลุ่มของผู้ฝากเงินมีแนวโน้มที่จะโยกย้ายเงินออมจากที่เคยฝากเอาไว้กับธนาคารพาณิชย์ไปสู่ช่องทางลงทุนอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนในระดับที่ดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก โดยในจำนวนนี้อาจเป็นไปได้ทั้งการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นด้วยตนเอง หรือการลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งล้วนแต่ส่งผลในเชิงบวกต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นค่ะ
อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้น กลุ่มของผู้ฝากเงินจะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินฝากที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผู้กู้ยืมเงินมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนของการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น และในทางทฤษฎีเรายังพบว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลในเชิงลบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น โดยนักลงทุนมีแนวโน้มที่จะนำเงินออมที่มีอยู่ไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อรับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น มากกว่าที่จะนำมาซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าการฝากเงิน
แต่สำหรับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ผลตอบแทนจากการลงทุน (Yield) มักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับดอกเบี้ยนโยบาย โดยในช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับตัวลดลง จะมีผลทำให้ Yield ของตราสารหนี้ปรับตัวลดลงตามไปด้วย กรณีเช่นนี้จะส่งผลดีต่อนักลงทุนที่ถือครองตราสารหนี้ไว้ในมืออยู่ก่อนแล้ว เนื่องจาก Yield ที่ลดลงจะหมายถึงการที่ราคาของตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น (Yield และราคาของตราสารหนี้เคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกัน หาก Yield ลดลง ราคาตราสารหนี้จะเพิ่มขึ้น และหาก Yield เพิ่มขึ้น ราคาตราสารหนี้จะลดลง) แต่จะเป็นผลในเชิงลบต่อผู้ที่กำลังจะเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากจะได้รับผลตอบแทน (Yield) ในระดับที่ต่ำลง หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือต้องเสียเงินซื้อตราสารหนี้ในราคาที่แพงขึ้นนั่นเอง
และในทางกลับกัน หากเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จะเป็นผลดีต่อผู้ที่กำลังจะเริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากจะได้รับผลตอบแทน (Yield) ในระดับที่สูงขึ้น หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ สามารถซื้อตราสารหนี้ได้ในราคาที่ถูกลง แต่จะเป็นผลในเชิงลบต่อนักลงทุนที่ถือครองตราสารหนี้ไว้ในมืออยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากตราสารหนี้ที่ถืออยู่นั้นจะมีราคาที่ลดน้อยลง จะเห็นได้ว่าการตัดสินใจด้านดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ล้วนแต่มีผลต่อประชาชนผู้ฝากเงิน ผู้กู้เงิน รวมไปถึงผู้ลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ดังนั้นจึงอาจถือได้ว่า ปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ย เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญและต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดค่ะ