xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่น-กองทุนดัง : จับตาแก้ปัญหาค่าเงินบาท สถานกาาณ์บีบ กนง.ลดดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่านั้นจะส่งผลให้หลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งหลายฝ่ายก็จับตามองว่า ทางรัฐบาล และแบงก์ชาติเองจะมีมาตรการอะไรออกมาเพื่อสกัดกันกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และแน่นอนว่า เสียงจากรัฐบาลนั้นเข้ามากดดันการทำงานของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติพอสมควร โดยเฉพาะการบีบให้ธปท.ลดดอกเบี้ย

โดยทางฝั่ง ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทมาตลอด และไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งในระยะหลังเงินบาทแข็งค่ามากและเร็ว ซึ่งทาง ธปท.ได้เตรียมมาตรการไว้พร้อมสำหรับใช้ในกรณีที่จำเป็น แต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่าช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทหรือไม่

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทต้นปี 2556 เปิดตลาดที่ 30.55 บาท/ดอลลาร์ ทยอยแข็งค่าขึ้นมาถึง 23 เม.ย. อยู่ที่ 28.82 บาท/ดอลลาร์ คิดเป็นแข็งค่าขึ้นในระดับ 6.28% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ และได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ รวมถึงมีการออก พ.ร.บ.เงินกู้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในสินทรัพย์สกุลบาท จึงมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง

ทางฝั่งนักวิชาการอย่าง รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุพงศ์ นิธิประภา คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มองว่า หากสถานการณ์ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าอย่างรวดเร็ว หรือมีเหตุให้เปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น ปรับแข็งค่าจากระดับ 28 บาทต่อเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน ไปที่ระดับ 27 บาทต่อเหรียญสหรัฐ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรเรียกประชุมด่วน ก่อนกำหนดวาระปกติในวันที่ 29 พ.ค. พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.75% เพื่อชะลอภาวะเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ และลดคาดการณ์ของประชาชนที่คิดว่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่อง ไม่ให้การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจในประเทศไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ หากคิดว่าการลดดอกเบี้ยจะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ธปท.ก็สามารถดำเนินมาตรการควบคุมภาวะฟองสบู่ควบคู่กันไปได้ เช่น การควบคุมการปล่อยสินเชื่อในรายภาคเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หากเกิดภาวะความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ มองว่า น่าจะเกิดในภาคตลาดอสังหาริมทรัพย์ก่อน

“ส่วนตัวคิดว่า การลดอัตราดอกเบี้ยน่าจะช่วยชะลอปัญหาเงินบาทแข็งค่าได้บ้าง เพราะถ้าคนคาดการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าไปเรื่อยๆ ค่าเงินบาทมันจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เพราะฉะนั้น ควรดำเนินการอะไรบ้างเพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้า และการคาดการณ์ของประชาชน ส่วนการห่วงภาวะฟองสบู่ หรือเงินเฟ้อ มองว่า ธปท.น่าจะมีแนวทางในการควบคุมอยู่แล้ว อีกอย่างเงินเฟ้อในปัจจุบันก็ไม่ได้สูง อยู่ที่ไม่ถึง 2% จึงไม่น่ากังวลมากนัก”

ด้านดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ จำกัด เห็นว่า แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ในช่วงนี้คาดว่าอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ทุกช่วงอายุน่าจะยังปรับลดลงจากเงินลงทุนไหลเข้า หลังจากนักลงทุนต่างประเทศมองทิศทางค่าเงินบาทแข็งต่อ แนะให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เชื่อว่าความต้องการลงทุนในตราสารหนี้ยังมีอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องตลอดไตรมาส 2 ทั้งจากเม็ดเงินลงทุนในประเทศ และต่างประเทศ

โดยมีค่าเงินบาทเป็นปัจจัยชี้วัดที่สำคัญของทิศทางตลาดตราสารหนี้ แม้ว่านักลงทุนเริ่มมีความกังวลว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะมีมาตรการใดมาควบคุมการปรับตัวของอัตราแลกเปลี่ยน หลังจากที่อัตราแลกเปลี่ยน THB/USD อยู่ที่ระดับ 28.5 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ การปรับตัวของค่าเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกจะเป็นปัจจัยกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงินอาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

สำหรับกองทุนเด่นในสัปดาห์นี้

กองทุนใหม่ในช่วงนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนเทอมฟันด์ ซึ่งลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี โดยให้ผลตอบแทนค่อนข้างน่าสนใจ โดยหลาย บลจ.ก็มีกองทุนประเภทนี้ออกมาขายไอพีโอ และโรลโอเวอร์อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการลงทุนก็คล้ายๆ กัน ผลตอบแทนก็ใกล้เคียงกันอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น