นักวิชาการ มธ. หนุนบิ๊กรัฐบาลแก้บาทแข็ง เปิดแถลงกระทุ้ง ธปท. ลดดอกเบี้ย 0.25% ชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ชี้หากแตะ 27 บาท/ดอลลาร์ ควรเรียกประชุม กนง.ด่วน ชมเปาะการลงทุน 2 ล้านล้านบาท มีความเหมาะสม เป็นสิ่งที่ประเทศไทยรอมานานแล้ว
นายภาณุพงศ์ นิธิประภา คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แถลงความเห็นการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยระบุว่า หากสถานการณ์ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าอย่างรวดเร็ว หรือมีเหตุให้เปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น ปรับแข็งค่าจากระดับ 28 บาทต่อเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน ไปที่ระดับ 27 บาทต่อเหรียญสหรัฐ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรเรียกประชุมด่วน ก่อนกำหนดวาระปกติในวันที่ 29 พ.ค. พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.75% เพื่อชะลอภาวะเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ และลดคาดการณ์ของประชาชนที่คิดว่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่อง ไม่ให้การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจในประเทศไปพร้อมๆ กัน
ทั้งนี้ หากคิดว่าการลดดอกเบี้ยจะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ธปท.ก็สามารถดำเนินมาตรการควบคุมภาวะฟองสบู่ควบคู่กันไปได้ เช่น การควบคุมการปล่อยสินเชื่อในรายภาคเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หากเกิดภาวะความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ มองว่า น่าจะเกิดในภาคตลาดอสังหาริมทรัพย์ก่อน
“ส่วนตัวคิดว่า การลดอัตราดอกเบี้ยน่าจะช่วยชะลอปัญหาเงินบาทแข็งค่าได้บ้าง เพราะถ้าคนคาดการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าไปเรื่อยๆ ค่าเงินบาทมันจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เพราะฉะนั้น ควรดำเนินการอะไรบ้าง เพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้า และการคาดการณ์ของประชาชน ส่วนการห่วงภาวะฟองสบู่ หรือเงินเฟ้อ มองว่า ธปท.น่าจะมีแนวทางในการควบคุมอยู่แล้ว อีกอย่างเงินเฟ้อในปัจจุบันก็ไม่ได้สูง อยู่ที่ไม่ถึง 2% จึงไม่น่ากังวลมากนัก”
นายภาณุพงศ์ กล่าวว่า สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม สมควรจะมีการลงทุนเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ ซึ่งประเทศไทยรอมานานแล้ว ที่สำคัญน่าจะเป็นเรื่องที่ดีในการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในอนาคต เชื่อว่า การลงทุนในวงเงินดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหาต่อระดับหนี้สาธารณะ หากรัฐบาลสามารถควบคุมวินัยการคลังไม่ให้หนี้เกิน 60% ของจีดีพี และสามารถบริหารผลตอบแทนการลงทุนได้สูงกว่าต้นทุนเงินกู้ที่กู้ในประเทศ