แบงก์ชาติปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้เพิ่มเป็น 5.1% จากเดิม 4.9% ระบุรับแรงส่ง Q4 ปีก่อน คาดมีเม็ดเงินลงทุนภาครัฐเพิ่ม พร้อมจับสินเชื่อเช่าซื้อรถโตสูง 40% มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงสุดในระบบ 6.1%
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)เปิดเผยว่า ในงานนโยบายการเงินฉบับเดือนเมษายน 2556 ได้มีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในหลายส่วน โดย ธปท.ประมาณการเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวประมาณ 5.1% จากเดิมที่ประมาณการเมื่อเดือนมกราคมที่ระดับ 4.9% พร้อมกันนั้น ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจของปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 5.0% จากเดิมที่ระดับ 4.8%
ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญในการปรับประมาณการดังกล่าว เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีก่อน มีการขยายตัวในระดับที่สูง อยู่ที่ระดับ 18.9% ซึ่งสูงกว่าที่ ธปท. และระบบคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ มองว่าจะมีแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฟื้นตัวมากกว่าที่คาดการณ์
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ธปท.ประเมินว่า ในปีนี้จะอยู่ในระดับ 1.6% ลดลงจากครั้งก่อนที่ประมาณการไว้ 1.7% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในระดับ 2.7% จากเดิมอยู่ที่ 2.8% ในช่วงระยะสั้นเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่ต่ำลง แต่ในระยะต่อไป ความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งต้องติดตามใน่วนของแรงกดดันที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้จาก 3 ปัจจัยสำคัญได้แก่ 1.การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่สอง ในภาวะที่แรงงานตึงตัว ก็อาจจะส่งผลให้ต้นทุนแรงงาน และราคาสินค้าสูงขึ้นได้ 2.ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และ 3.เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง เป็นส่วนที่เอื้อให้การส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปสู่ราคาได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีก
นอกจากนี้ ธปท.ได้ประมาณการตัวเลขสำคัญของเศรษฐกิจในปีนี้ ในด้านต่างๆ ดังนี้ การบริโภคภาคเอกชนประมาณการไว้ 4.7% จากเดิม 4.3% โดยการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ส่วนการลงทุนภาคเอกชนอยู่ในระดับ 7.4% จากเดิม 12.1% เนื่องจากส่วนหนึ่งได้มีการเร่งลงทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนในแง่ของภาครัฐประมาณการว่าจะมีการอุปโภคบริโภคขยายตัวที่ 4.5% จากเดิม 2.2% และการลงทุนอยู่ที่ 22.3% จากเดิม 17.1%
โดย ธปท.ประเมินแผนการลงทุนในภาครัฐว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 2 ปีแรกได้ประมาณ 40% ของแผนการลงทุนเบื้องต้น ในแต่ละปีของภาครัฐ ซึ่งในปี 56 คาดว่าจะการเบิกจ่ายประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ปี 57 จะเบิกจ่ายได้ 9.3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากดูข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา จึงไม่อยากให้ตัวเลขสูงกว่าความเป็นจริง อีกทั้งหากเป็นโครงการลงทุนใหม่ๆ ก็อาจจะทำให้ขั้นตอนต่างๆ ล่าช้าไปอีก
ส่วนมูลค่าการส่งออกเติบโต 7.5% จากเดิม 9.0% มูลค่าการนำเข้า 8.7% จากเดิม 9.2% โดยปัจจัยหลักมาจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อาจส่งผลให้กำไรของผู้ส่งออกลดลง เมื่อนำรายได้มาแปลงเป็นเงินบาท ซึ่งสอดคล้องกับยอดการส่งออกในไตรมาส 1 ที่ลดลงเช่นกัน
จับเช่าซื้อรถอัตราผิดนัดสูงสุด
สำหรับกรณีที่การอัตราการเติบโตของสินเชื่อรถยนต์ที่อยู่ในระดับสูงถึง 40% เป็นผลมาจากโครงการรถคันแรกของภาครัฐ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าเศรษฐกิจจริง กนง.จึงให้ความสำคัญ และให้ ธปท.ติดตามดูเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ได้
“ขณะนี้แบงก์ชาติกำลังติดตามสินเชื่อต่างๆ ที่ขยายตัวค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่โตมากถึง 40% แนวโน้มยังจะเติบโตในอัตราที่น่ากังวลมากขึ้น ขณะเดียวกัน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีอัตราผิดนัดชำระสูงสุดในระบบที่ 6.1% ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เทียบกับเดือนมกราคมที่ระดับ 5.7% ซึ่งแบงก์ชาติก็ได้ไปสำรวจในต่างจังหวัดพบว่า หลายคนพบผิดนัดมากขึ้น แต่ก็ต้องติดตามไปอีกระยะหนึ่งก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าถึงกรณีจำเป็น และเหมาะสมเราก็พร้อมดำเนินมาตรการ”