xs
xsm
sm
md
lg

"โต้ง"ชี้บาทแข็งไม่ถึง27 ศูนย์วิจัยกสิกรฯประเมินแตะ 29กลางปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "กิตติรัตน์" มาแปลก อ้างค่าบาทแข็งไม่เกิน 27 เพราะมีกลไกตลาดทำงาน พร้อมเรียกร้องให้ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินบาทแตะ 29.00 บาทในกลางปี และ 28.50 ช่วงปลายปี เหตุยังมีเงินนอกไหลเข้าภูมิภาคต่อเนื่อง และยังอยู่ในสถานการณ์นี้อย่างน้อย 1 ปี ระบุลดดอกเบี้ยอาจไม่ช่วย เพราะหวังกำไรค่าเงินมากกว่า

    วานนี้ (21 มี.ค.) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวว่า เงินบาทไม่น่าจะแข็งค่าไปถึง 27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะเชื่อว่ากลไกตลาดจะทำงานก่อนที่เงินบาทจะแข็งค่าไปถึงระดับนั้น พร้อมกันนี้ยังขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งเข้ามาดูแลปัญหาเงินบาทแข็งค่าให้มากกว่านี้ เพราะไม่อยากเห็นเงินบาทต้องแข็งค่าไปจนส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหายิ่งทำได้ยากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม นายกิตติรัตน์ย้ำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับปัจจุบันที่ 2.75% และยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่มีการออกมาตรการเพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้า เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง จากเงินทุนต่างประเทศที่ยังไหลเข้าสู่ประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ เป็นตามนโยบายของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกที่ยังดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย โดยคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 29.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในกลางปีนี้ และแตะระดับ 28.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปีนี้
 “เราต้องอยู่ในสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าอย่างนี้ไปอีกอย่างน้อย 1 ปี เพราะเมื่อวันที่ 20 ที่ผ่านมา ทางเฟดเองก็ประกาศทำ QE อีก 1 ปี อันนี้เฉพาะแค่สหรัฐฯ แต่ก็ยังมีประเทศอื่นๆอีก อาทิ อังกฤษ ญี่ปุ่น ที่ชัดเจนว่าจะอัดฉีดเงินเข้าระบบ ทำให้ทิศทางเงินบาทจะยังคงแข็งค่าอยู่ต่อเนื่อง”
 อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังประมาณการค่าเฉลี่ยของเงินบาทในปีนี้ไว้ที่ระดับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงอัตราการเติบโตของจีดีพีที่ระดับ 4.8% และการส่งออกเติบโตที่ระดับ 10% ทั้งนี้ ก็คงต้องรอดูแนวทางในการรับมือกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นของทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 1% จะกระทบต่อจีดีพี 0.1-0.3%
 ส่วนกรณีที่ทางการต้องการให้ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุนนั้น นายเชาว์กล่าวว่า คงต้องดูว่าเงินที่ไหลเข้ามาต้องการผลตอบแทนจากส่วนต่างของดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งขณะนี้เท่าที่ดูเป็นเรื่องของผลตอบแทนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก ดังนั้น แม้ดอกเบี้ยจะลงไปอีก ก็คงไม่ได้ช่วยชะลอเงินไหลเข้า ขณะที่มาตรการภาษีนั้น ควรใช้เมื่อจำเป็น และสามารถตอบนักลงทุนได้ว่าเงินที่ไหลเข้ากระทบกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร
   นอกจากนี้ การปรับลดดอกเบี้ยอาจจะเป็นตัวเร่งให้หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องธปท.มีความเป็นห่วงอยู่ เนื่องจากมีอัตราการเพิ่มขึ้นเร็วโดยปัจจุบันสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับ 24%ของจีดีพี และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก แม้ขณะนี้จะยังไม่เห็นสัญญาณของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ที่เพิ่มขึ้น แต่หากวัฎจักรดอกเบี้ยเปลี่ยนเป็นขาขึ้น ก็จะอาจจะเกิดปัญหาได้ เพราะความสามารถในการชำระหนี้ลดลง
   ด้านความกังวลในเรื่องฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น แม้ว่าจำนวนการสร้างที่อยู่อาศัยจะสูงขึ้น โดยจำนวนที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จในปี 2555 มีจำนวน 88,378 หน่วย แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับช่วงปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่มีจำนวน 124,462 หน่วย ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อจีพีดีในปี 2555 อยู่ในระดับ 19.9% นับเป็นระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องมาจากปริมาณความต้องการที่อยู่อาศัยก็เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง รวมถึงนโยบายสนับสนุนของรัฐ อาทิ โครงการบ้านหลังแรก เป็นต้น
 “ในเรื่องฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณตรงนั้น เพราะฟองสบู่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อราคาอสังหาฯอธิบายไม่ได้ด้วยปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีจุดนั้น” นายเชาว์กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น