xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายงานประชุม “บอร์ด กนง.” เผยความเห็นต่าง 1 ใน 6 กรรมการที่เคยเป็นประเด็นร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยมติประชุมบอร์ด กนง. วันที่ 20 ก.พ. เห็นพ้อง ศก.โลกยังไม่แน่นอน สั่งติดตามความเสี่ยง ทั้งสินเชื่อ เงินทุนไหลเข้า และภาวะฟองสบู่ พร้อมเปิดความเห็นต่าง 1 ใน 6 กรรมการ ที่เคยเป็นประเด็นร้อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 20 ก.พ.56 โดยระบุว่า คณะกรรมการฯ เห็นสอดคล้องกันว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวในเกณฑ์ดีจากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายยังคงมีแนวโน้มที่จะไหลเข้าไทย ขณะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในประเทศยังคงมีอยู่

คณะกรรมการฯ เห็นพ้องถึงความต่อเนื่องในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยอภิปรายถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบแรงส่งทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป เช่น การขาดแคลนแรงงาน ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินในบางภาคเศรษฐกิจ และความยั่งยืนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น

กนง.ระบุว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม โดยความเสี่ยงสำคัญมาจาก (1) การขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล และการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงบ้าง โดยงานศึกษาต่างๆ และประสบการณ์จริงของต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ชี้ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเปราะบางต่อเศรษฐกิจได้ และมาตรการ Macroprudential ที่อาจพิจารณาใช้ควบคู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะเกิดประสิทธิผลก็ต่อเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่เหมาะสมแก่การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

(2) ผลกระทบของเงินทุนไหลเข้าต่อเศรษฐกิจ เช่น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งงานวิจัยต่างๆ พบว่า แม้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลดึงดูดเงินทุนไหลเข้าอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่น เช่น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย และการคาดการณ์ทิศทางค่าเงินบาท ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนมากกว่า

(3) การเร่งขึ้นของราคาสินทรัพย์บางประเภทที่อาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ จนอาจส่งผลทางอ้อมให้นักลงทุนในประเทศมีพฤติกรรมการลงทุนในทางที่เก็งกำไรมากขึ้น เพื่อแสวงหาผลตอบแทนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นพ้องถึงความจำเป็นที่ต้องติดตามพัฒนาการของความเสี่ยงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และผสมผสานมาตรการที่เหมาะสมตามความจำเป็นเพื่อป้องกันความไม่สมดุลที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม กนง. มองว่า ในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีอุปสงค์ในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงานที่แพง และหายากขึ้น ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอาจกลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้โดยรวมการคาดการณ์เศรษฐกิจของปี 2556 ปรับสูงขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน

สำหรับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อสูงขึ้นเล็กน้อยตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

โดยในการประชุมครั้งดังกล่าว กรรมการฯ 6 รายเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี โดยประเมินว่า แม้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงจากความยืดเยื้อในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยูโร และความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลังของสหรัฐฯ ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตในเกณฑ์ดีโดยอุปสงค์ในประเทศจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ทั้งนี้ กรรมการฯ 1 รายเห็นว่า ยังมีความจำเป็นที่ต้องติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป หลังจากที่เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2555 แสดงการชะลอตัวลง และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในประเทศยังมีอยู่ ทั้งจากการเร่งขึ้นของราคาสินทรัพย์ และการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อรอดูความชัดเจนของความเสี่ยงในแต่ละด้าน

และกรรมการฯ 1 รายเห็นว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมีผลต่อการไหลเข้าของเงินทุน และความสัมพันธ์นี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในช่วงใดของวงจรเศรษฐกิจ และภาวะของตลาดเงินในช่วงนั้นๆ หากทางการมีวิธีการกำกับเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างมีระบบและเหมาะสมกับสถานการณ์ การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก็อยู่ในวิสัยกระทำได้ แต่อาจจะต้องเตรียมมาตรการอื่นเสริมด้วยหากจำเป็น

ส่วนกรรมการฯ 1 รายที่เห็นควรให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปีให้เหตุผลว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชีย ส่วนหนึ่งเห็นได้จากการปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในรายงานเดือนมกราคมของ IMF และ World Bank เทียบกับรายงานฉบับก่อน

สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าไทยมีสัดส่วนที่สูงกว่าในอดีต ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงมากกว่าที่ประเมินไว้ และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำไม่ได้เป็นปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่กระตุ้นการขยายตัวของสินเชื่อ การก่อหนี้ภาคครัวเรือน และการเร่งขึ้นของราคาสินทรัพย์ โดยทางการควรนำมาตรการ Macroprudential มาใช้เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินด้วย ดังนั้น จึงควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากเงินทุนเคลื่อนย้าย และความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้งเป็นการส่งสัญญาณต่อตลาดว่า คณะกรรมการฯ มีความกังวลต่อประเด็นดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น