xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นกนง.คงดบ.เชื่อครั้งหน้าลดแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - รองผู้ว่าแบงก์ชาติเห็นควรคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% เศรษฐกิจกำลังบูมยิ่งลดยิ่งเพิ่มดีมานด์ ประกอบกับดอกเบี้ยนโยบายยังไม่สามารถกดดันดอกเบี้ยในตลาดได้ ระบุขณะนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เห็นปัญหาชัดเจน ด้านนายแบงก์ซีไอเอ็มบีคาดมติ กนง.คงดอกเบี้ย แต่เชื่อว่าน่าจะมีการปรับลดลงในการประชุมครั้งถัดไป และอีกครั้งในครึ่งปีหลัง รวมทั้งปีดอกเบี้ยนโยบายลดลง 0.50%

นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงปี 55 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ทำให้ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายระดับ 2.75%ต่อปี ไม่ได้สูงมากเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ โดยเห็นว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สินเชื่อโตระดับ 14-15% ขณะที่เศรษฐกิจไทยทั้งปี 55 ขยายตัวอยู่ที่ 6.4% ถือว่าค่อนข้างสูง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจเกิดขึ้น ฉะนั้น ถ้าอุปสงค์ขนาดนั้นใช่ว่าจะลงดอกเบี้ยนโยบายได้ง่ายๆ และการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปยังดอกเบี้ยในตลาดใช่ว่าจะนำตลาดได้

ตามธรรรมชาติตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเกิดปัญหาจาก 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่งปัญหาฟองสบู่เป็นผลจากดีมานส์ที่มีการปั่นราคาให้สูง อีกด้านปัญหาอสังหาริมทรัพย์ล้นตลาดผลของฝั่งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แต่ในฐานะผู้กำกับดูแลจะต้องดูให้ชัดเจนก่อนว่าเกิดปัญหาด้านใดและเมื่อเกิดขึ้นแล้วการจะเข้าไปดูแลในตลาดก็ย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยได้ จึงต้องระมัดระวัง อีกทั้งจากการติดตามตัวเลขต่างๆ ยังไม่เห็นว่ามีตัวชี้อะไรที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาฟองสบู่หรืออสังหาฯล้นตลาด จึงควรรอดูข้อมูลช่วงกลางปีนี้ให้ชัดเจนขึ้นก่อน

“ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณอะไรที่ชัดเจน แต่ของพวกนี้ไม่ปัจจุบันทันด่วนเป็นการสะสมหลายปี แต่ขณะนี้การสะสมยังไม่มาก ซึ่งราคาเฉลี่ยคอนโดที่มีการซื้อขายกันมากก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% ในช่วงปี53-55 ฉะนั้นการขยับเกณฑ์อะไรหรือทำอะไรเพิ่มเติมก็เหมือนกับคนไข้ หากใช้ยาแรงก็อาจได้ตาย และถ้าเห็นการก่อตัวไม่ดี สัญญาณแรกที่จะทำ คือ เราจะเชิญผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มาคุยกันก่อนถึงมุมมองและข้อมูลที่เขามีอยู่ด้วย”รองผู้ว่าการธปท.กล่าว

เมื่อ 3 ปีก่อนที่ออกหลักเกณฑ์สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) มาช่วงนั้นเตรียมการเท่านั้น แต่ยังไม่มีสัญญาณอะไร เพราะการจะทำอะไรช่วงเกิดปัญหาก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ฟองสบู่แตกได้เร็วขึ้น อีกทั้งหลักเกณฑ์แอลทีวีที่กำหนดค่อนข้างแคบมาก ซึ่งเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งไว้ก่อนไม่ได้ตั้งใจทำในช่วงนั้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นแง่ของความรู้สึกของตลาดในช่วงดอกเบี้ยต่ำ ทำให้คนหันมาลงทุนซื้ออสังหาฯ เพื่อให้เช่า ซึ่งจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4-6% ขณะที่ปัจจุบันเฉลี่ยรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก 2.5% นอกจากนี้จากการสำรวจ พบว่า ถ้าคนมาขอกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จาก 100 คนผ่านหลักเกณฑ์แค่ 35 คนเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาตรฐานการปล่อยกู้ยังไม่ลดหย่อนลงไป

ซีไอเอ็มบีไทยคาด กนง.ลดรอบหน้า

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักวิจัยสายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี (ไทย) จำกัด (มหาชน) (CIMBT) กล่าวว่า การประชุม กนง.ในวันนี้ (20 ก.พ.) คาดว่าจะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจก็ยังมีแรงขับเคลื่อนไปได้ดีอยู่ จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยลง แต่เชื่อว่าน่าจะมีการปรับลดลงในการประชุมครั้งถัดไป และอีกครั้งในครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าทั้งปีดอกเบี้ยนโยบายจะลดลง 0.50%

"การที่ ธปท.ยังคงดอกเบี้ยไว้ในครั้งนี้ ก็คงจะเป็นเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและต้องการจะยืนหยัดในเหตุผลของตนเอง นอกจากนี้ก็อาจจะเป็นการรอดูหนี้ครัวหนี้ครัวเรือน และภาคอสังหาฯที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว ซึ่งหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก็อาจจะเป็นหนุนให้หนี้ทั้ง 2 ส่วนเพิ่มขึ้นจนทำเกิดปัญหาฟองสบู่ได้"

สำหรับมาตรการเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเงินทุนไหลเข้านั้น คงจะไม่สามารถใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่ง ต้องใช้การผสมผสานกัน ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยสูงกว่าของประเทศ G3 ค่อนข้างมาก รวมถึงการเก็บภาษีเงินลงทุนสำหรับการลงทุนที่สั้นกว่า 1 ปี หรือรัฐบาลกู้เงินสำรองระหว่างปะรเทศนำไปลงทุนหรือไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่เกิน1ใน3ของดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นต้น

นายบันลือศักดิ์กล่าวอีกว่า เงินบาทอยู่ในเทรนด์ที่แข็งค่าไปอีก 2 ปี จากทิศทางเงินทุนต่างประเทศยังไหลเข้าต่อเนื่อง ซึ่งหากมีมากขึ้นเรื่องก็น่าจะมีบางประเทศในภูมิภาคนี้ต้องนำมาตรการ Capital Control มาใช้ ซึ่งอาจจะเป็นแรงกดดันให้ไทยต้องใช้ด้วยเช่นกัน เพื่อสกัดเงินทุนที่ไหลบ่าเข้ามา.
กำลังโหลดความคิดเห็น