xs
xsm
sm
md
lg

นายแบงก์จับตาประชุม กนง. วันที่ 20 ก.พ.นี้ มั่นใจตลาดไม่ช็อก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหาร ธ.กสิกรไทย คาด กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเล็กน้อย ในการประชุมวันที่ 20 ก.พ.นี้ เพื่อบรรเทาปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท คาดปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป มั่นใจหากปรับลงนิดหน่อยไม่ทำตลาดช็อก เพราะการใช้มาตรการดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว คงไม่ช่วยได้มากนัก ด้านสำนักวิจัยซีไอเอ็มบีไทย คาด กนง. คงดอกเบี้ยที่ 2.75% ในระดับเดิม

นายกฤษฎา ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ 2556 นี้ โดยเชื่อว่ามีโอกาสที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเล็กน้อย จากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 2.75 เพื่อบรรเทาปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท และปัญหาเงินทุนต่างชาติไหลเข้า ประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง ซึ่ง กนง.อาจจะให้น้ำหนักกับปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หาก กนง.จะลดดอกเบี้ยคงจะลดแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ลดมากในอัตราที่รุนแรง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อตลาดการเงิน หรือเกิดภาวะช็อกกับตลาด ซึ่งการลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหาค่าเงินบาทได้ ต้องใช้หลายมาตรการผสมกัน ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะร่วมกันดูแลเงินบาทให้ดีที่สุด

นายกฤษฎา กล่าวว่า ธนาคารฯ มีการดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างเข้มงวด และยังไม่พบสัญญาณหนี้เสีย ซึ่งธนาคารฯ เดินหน้าธุรกิจบัตรเครดิตร่วม His & Her คาดว่าจะมียอดบัตร His & Her ในสิ้นปีนี้ที่ 100,000 ใบ และเพิ่มเป็น 200,000 ใบ ภายใน 3 ปี คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรกว่า 20,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี โดยปัจจุบันมีฐานบัตรเครดิตร่วมประมาณ 500,000 ใบ จากฐานลูกค้าบัตรเครดิตทั้งหมด 2.56 ล้านใบ และในปี 2556 ธนาคารฯ ตั้งเป้าเพิ่มลูกค้าบัตรเครดิตอีก 650,000 ใบ เป็น 3 ล้านใบ และเพิ่มการใช้จ่ายผ่านบัตรอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 จากยอดสิ้นปี 2555 ที่ 219,000 ล้านบาท

ด้านนายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 2.75 เพราะ กนง.คงไม่ต้องการให้ถูกมองว่าฝ่ายการเมืองเข้ามากดดันการตัดสินใจ แต่มีแนวโน้มที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งต่อไป เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจมีสัญญาณขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากหมดมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ ดังนั้นคาดว่าทั้งปี กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ส่วนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ีคาดว่าโตร้อยละ 4-4.5

ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาบาทแข็งค่า ไม่สามารถใช้มาตรการใดเพียงอย่างเดียวได้ ต้องใช้การผสมผสานหลายมาตรการ ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 พร้อมกับมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันฟองสบู่และการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน

นอกจากนี้ เสนอมาตรการเก็บภาษีเงินลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในไทยสั้นกว่า 1 ปี ประมาณร้อยละ 10 และให้รัฐบาลกู้เงินสำรองระหว่างประเทศเพื่อนำไปลงทุน (Sovereign Wealth Fund) หรือเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยไม่เกิน 1 ใน 3 ของดุลบัญชีเดินสะพัดสะสม อย่างไรก็ตาม หากปัญหาเงินบาทแข็งค่ารุนแรงขึ้น อาจจะนำเข้าหารือในกลุ่มประเทศ อาเซียน หรืออาเซียน+3 ในการร่วมมือแก้ปัญหาค่าเงินร่วมกัน โดยเห็นว่าประเทศไทยอาจจะเป็นผู้นำในการหารือ เพื่อให้อาเซียนใช้มาตรการเก็บภาษีเงินทุนต่างชาติเหมือนกัน โดยขณะนี้เกาหลีใต้เริ่มมีแนวคิดที่จะใช้มาตรการดังกล่าว

“การลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้า เพราะหากจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องลดดอกเบี้ยถึงร้อยละ 1 และไม่ได้การันตีว่าเงินต่างชาติจะไม่ไหลกลับมาไทยอีก ในทางตรงกันข้าม การที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์อย่างรุนแรง และเกิดฟองสบู่ในตลาดคอนโดมิเนียม เกิดการเก็งกำไรที่ดิน และหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น” นายบันลือศักดิ์ กล่าว

นายบันลือศักดิ์ กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีแรก คาดว่าจะเคลื่อนไหว 29.50-30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยเชื่อว่ารัฐบาลจะออกมาตรการแก้ปัญหาค่าเงิน ก่อนที่ธุรกิจขนาดกลางและเล็กจะเลิกกิจการมากขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากทั้งปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า และค่าแรง 300 บาทต่อวัน แต่แนวโน้มในระยะยาว เชื่อว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าได้ เพราะคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของประเทศต่าง ๆ ยังอยู่ในระดับต่ำ และประเทศ G3 คือ สหรัฐ ยุโรป และ ญี่ปุ่น ยังใช้มาตรการ QE อีกอย่างน้อย 1-2 ปี ซึ่งกระแสเงินทุนต่างชาติก็จะยังไหลเข้ามาในเอเชีย
กำลังโหลดความคิดเห็น