“สศค.” เร่งหารือ “สรรพากร” แก้ กม. เปิดช่อง “เอกชน” ส่งเงินลงทุนกลับเข้าประเทศ โดยไม่ต้องเสียภาษี ย้ำต้องศึกษาให้รอบคอบ ปิดช่อง “ฟอกเงิน” คาดไม่เกิน 2 เดือนสรุป “ณรงค์ชัย” เริ่มเห็นฟองสบู่ในหุ้น-อสังหาฯ แต่เป็นฟองสบู่เล็กๆ ที่จำกัดอยู่ในหุ้นบางตัว และอสังหาฯ ในบางพื้นที่เท่านั้น
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.อยู่ระหว่างหารือกับกรมสรรพากรในการแก้กฎหมายภาษีให้เอกชนที่นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ สามารถนำเงินกลับประเทศมาได้ โดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งจะเหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ และมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม สศค.ต้องศึกษาข้อมูลร่วมกันให้ดีก่อนที่จะมีการแก้กฎหมาย เพราะกลัวจะเป็นช่องทางให้เกิดการฟอกเงินได้ ถ้าไม่มีการเสียภาษีจากการนำเข้าเงินลงทุนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาร่วมกันไม่เกิน 1-2 เดือน น่าจะได้ข้อสรุป
ส่วนความกังวลในเรื่องวิกฤตการณ์ทางการคลังของประเทศ หลังจากที่รัฐบาลจะลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโครงการประชานิยมต่างๆ ที่ได้เริ่มไปแล้ว เช่น โครงการรับจำนำข้าว นายสมชัย ระบุว่า จะไม่ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางการคลังได้ เพราะในปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีเงินทุนสำรองสูงกว่า 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากพอต่อการรับมือกับวิกฤตทางการคลังถ้าหากเกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้ การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นเรื่องดีที่ควรจะเกิด เพราะสนามบินสุวรรณภูมิเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานครั้งสุดท้ายที่เคยเกิดขึ้น สำหรับความกังวลที่ว่ารัฐบาลจะต้องไปกู้ยืมเงินมาเพื่อลงทุนจะทำให้เกิดวิกฤตการคลังนั้น เป็นเรื่องที่วิตกกันไปเอง เพราะแบงก์ชาติมีเงินทุนสำรองมากพอที่จะดูแล และบริหารไม่ให้เกิดปัญหาทางการคลังได้
ด้านนายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) เอ็มเอฟซี ในฐานะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า กนง. มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้อยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้ว ถ้าต่ำไปกว่านี้อีกจะกระทบต่อระบบการออมเงิน โดยตอนนี้ กนง. มองเห็นฟองสบู่ในตลาดหุ้น และอสังหาริมทรัพย์บ้างแล้ว แต่เป็นฟองสบู่เล็กๆ ที่จำกัดอยู่ในหุ้นบางตัว และอสังหาริมทรัพย์บางพื้นที่เท่านั้น
ทั้งนี้ เม็ดเงินของต่างชาติที่ไหลเข้าไทยอาจทำให้ในช่วงนี้เกิดฟองสบู่เล็กในหุ้นบางตัว และอสังหาริมทรัพย์ในบางพื้นที่ แต่ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านจะพบว่า แม้ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวสูงตามแรงไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ แต่สัดส่วนกำไรต่อหุ้น (พี/อี) ของไทยก็ใกล้เคียง หรือต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนอสังหาริมทรัพย์ราคาที่ดินใจกลางกรุงเทพฯ ก็ยังต่ำกว่าราคาที่ดินในกรุงฮานอยของเวียดนามจึงไม่น่าห่วง