xs
xsm
sm
md
lg

“โต้ง” ชี้ ดบ. ต่ำไม่ใช่ต้นเหตุฟองสบู่ ยันธุรกิจอสังหาฯ ไทย ไม่มีปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง (แฟ้มภาพ)
“กิตติรัตน์” ชี้ธุรกิจอสังหาฯ ไม่อยู่ในภาวะฟองสบู่ แม้รัฐบาลจะผลักดันให้อัตรา ดบ. อยู่ในระดับต่ำ เพราะ ดบ.สูง ก็เกิดฟองสบู่ได้ ยืนยันปริมาณก่อสร้าง และความต้องการซื้อยังสอดคล้องกัน มั่นใจแบงก์พาณิชย์ปล่อยสินเชื่อรอบคอบ พร้อมระบุ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท หนุนธุรกิจภาคอสังหาฯ ขยายตัวแข็งแกร่ง เตรียมดันเข้าสภา เม.ย.นี้

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานสัมมนาใหญ่ประจำปี “อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2013” และปาฐกถาพิเศษ “นโยบายของภาครัฐกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี พ.ศ.2556” ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม A-C โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพฯ

นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่า ตนเองยังไม่เห็นสัญญาณการเกิดฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยปริมาณการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ถือว่า สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อ ขณะที่การระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของกลุ่มสถาบันการเงินก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงในประเด็นดังกล่าว

“ภาวะฟองสบู่จะเกิดจากปริมาณทรัพย์สินที่มีจำนวนจำกัด ขณะที่ความต้องการมีมากเกินไป และมาจากสภาพคล่องที่สูง แต่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เห็นปริมาณการก่อสร้าง หรือปริมาณการซื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต่อเนื่องมาในทศวรรษที่ผ่านมา ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวใหญ่มาเป็นครอบครัวเดี่ยว ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยมีมากขึ้น” นายกิตติรัตน์กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวตอบข้อถามที่ว่า หากนโยบายการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินเชื่อ และนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ของธุรกิจหรือไม่ เขากล่าวว่า ในอดีตอาจมีการโยงว่าดอกเบี้ยต่ำ และปริมาณเงินมากเป็นเหตุให้เกิดภาวะฟองสบู่ แต่ถ้าสังเกตจะพบว่า อัตราดอกเบี้ยสูงก็สามารถเป็นสาเหตุของสบู่ได้เช่นกัน เพราะจะเกิดการดึงเงินทุนจากนอกระบบเศรษฐกิจเข้ามา ทำให้ปริมาณเงินในประเทศสูงขึ้น ฉะนั้น หลักคิดในเรื่องนี้คือ ส่วนสำคัญไม่ได้อยู่ที่ดอกเบี้ย แต่อยู่ที่ปริมาณเงินที่ต้องในระดับที่เหมาะสม

“ที่สำคัญคือ การติดตามปริมาณเงินที่จะเข้ามา ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเขาก็มีมาตรการในการดูแล และช่วยผลักดันให้เงินทุนไหลออกอย่างคล่องตัว ก็ถือเป็นมาตรการที่ถูกต้อง ทำให้ปริมาณเงินในระบบไม่เพิ่มขึ้น ถ้าปริมาณเงินพอดีเงินก็อาจไหลออกก็ได้” นายกิตติรัตน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในแง่มาตรการในการดูแลเงินทุนไหลเข้าควรจะมีมาตรการด้านดอกเบี้ยเพิ่มเติมหรือไม่นั้น เขากล่าวว่า ได้พูดไปหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งเห็นว่าการดำเนินนโยบายเพื่อดูแลเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีมาตรการหลายด้านประกอบกัน รัฐบาลเองก็ได้เตรียมมาตรการในการดูแล เช่น การชำระหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด ส่วนนโยบายการเงินนั้นก็ต้องช่วยกัน และย้ำว่าทุกมาตรการมีทั้งข้อดี และเสีย

“การอนุญาตให้การลงทุนต่างประเทศที่มีกรอบกว้าง และคล่องตัว หรืออนุญาตให้ผู้ส่งออกนำเงินตราต่างประเทศฝากไว้โดยไม่ต้องแลกบาทในเวลาทันที คิดว่าเป็นนโยบายที่แบงก์ชาติทำถูก เพราะทำให้ปริมาณเงินไม่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ถ้าปริมาณเงินมากเกินพอดี ก็จะสามารถไหลออกได้ด้วย หลายท่านอาจไม่คุ้นเคย เพราะเคยสบายใจกับเงินไหลเข้า และไม่สบายใจกับเงินไหลออก แต่ย้ำว่าการไหลเข้าออกไม่สำคัญ สำคัญที่ปริมาณเงินพอดีหรือเปล่า ขณะนี้มีข้อเป็นห่วงปริมาณเงินมากไป การเปิดทางให้เงินออกได้บ้าง และชะลอการไหลเข้าด้วย ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม และความกังวลเรื่องฟองสบู่หายไป”

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า นับจากนี้เศรษฐกิจไทยจะมีการเติบโตตามศักยภาพ และหมดยุคที่จะเติบโตช้าในระดับ 2-3% โดยนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการอยู่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวได้ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งในอีกไม่กี่สัปดาห์รัฐบาลจะมีการอนุมัติโครงการลงทุนดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น