xs
xsm
sm
md
lg

“ทนง” อัดประชานิยม-เงินกู้ 2 ล้านล. ปั่นหุ้น&กำไร บจ. โตแค่สั้นๆ ระยะยาวน่าวิตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 “ทนง” เชื่อหุ้นไทยยังไปต่อจากเม็ดเงินอัดฉีดภาครัฐ ชี้หากปรับลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 17% มีโอกาสเห็นดัชนี 1,800 จุด หลังปรับเหลือ 23% ดันกำไร บจ. แตะ 7 แสนล้าน คาดภาพรวมระยะ 1-2 ปี เศรษฐกิจโต บริษัทกำไรสวย หุ้นพุ่ง แต่จากนั้นประชานิยมจะทำพิษ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ทำหนี้สาธารณะพุ่ง และยังไม่เห็นวิธีชำระหนี้ ล่าสุด ดัชนีปิดลบ 0.97 จุด ไร้ปัจจัยใหม่หนุน ส่อเข้าสู่การปรับฐาน

นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา “ทิศทางตลาดหุ้นไทย 2556 อิ่มตัวหรือไปต่อ” ว่า การที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นมาในระดับนี้นั้นมองว่ายังมีโอกาสที่จะไปต่อได้อีกระยะหนึ่ง และไม่มีสัญญาณฟองสบู่ ทั้งหมดเพราะนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในผลตอบแทนการลงทุนที่ดีขึ้น หลังจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปี 55 เพิ่มขึ้นราว 1 แสนล้านบาท เป็น 7 แสนล้านบาท หรือเติบโตราว 17% แต่การเติบโตของกำไร บจ.นั้น 10% มาจากการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของภาครัฐ จาก 30% เหลือ 23%

ทั้งนี้ มองว่าในระยะเวลา 1-2 ปี หุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวขึ้นมาถึง 1,800 จุดได้ เพราะได้ทราบข่าวมาว่า ภาครัฐมีแนวคิดที่จะมีการปรับลดภาษีนิติบุคคลลงอีกจนเหลือแค่ 17% เพราะต้องการเพิ่มศักยภาพประเทศไทยให้เติบโต ให้สามารถแข่งขันในอาเซียน หรือ AECได้ อีกทั้งรัฐบาลยังสามารถเก็บรายได้จากส่วนอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น

“ปี55 บจ. กำไร7 แสนล้าน ที่จริงไม่น่าจะถึง แต่ถึงเพราะการลดภาษีนิตติบุคคลของภาครัฐ ตอนนี้มีข่าวว่ารัฐจะลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 17% เชื่อว่าจะทำให้หุ้นพุ่งขึ้นอีก”

อย่างไรก็ตาม มองว่ายังเป็นห่วงภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจเกิดปัญหาฟองสบู่ในระยะยาวได้ โดยพบข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า มีเงินลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไทย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นการไซฟ่อนเงิน โดยเฉพาะจากกลุ่มเศรษฐีใหม่ของจีน รวมถึงเงินลงทุนจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่มองราคาอสังหาริมทรัพย์ในไทยยังถูกกว่าถึง 10 เท่า ดังนั้น แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังติดตามการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาฯ แต่ก็ยังมีอีกหลายมาตรการที่นำมาควบคุมการปล่อยสินเชื่อได้ ไม่เฉพาะนโยบายอัตราดอกเบี้ย อย่างเช่นการกำกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ด้วยการเพิ่มสำรองให้มากขึ้นกว่าปัจจุบันที่กำหนดไว้ที่ 8.5% อาจเพิ่มเป็น 15-20%

“เศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวได้สูงกว่า 5% แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ เศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐฯ ที่ยังไม่แน่นอน และอาจกระทบกับภาคการส่งออกของไทย”

          ส่วน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้น รัฐบาลควรพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ ควรมีการจัดลำดับความสำคัญ และวางเป้าหมายในการสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศมากกว่าที่จะอัดฉีดเม็ดเงิน หรือใช้ประชานิยมกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป เพราะแม้ในช่วง 2 ปีจากนี้ เศรษฐกิจอาจจะยังเติบโตได้จากการอัดฉีดเม็ดเงินของรัฐแต่จะเป็นความเสี่ยงในระยะยาว ดังนั้น จะต้องเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หาจุดยืนของไทยในอาเซียน เพราะขณะนี้หลายประเทศได้เริ่มวางยุทธศาสตร์เชิงรุกให้มากขึ้นแล้ว

         “หนี้สาธารณะอยู่ที่ 40% ของจีดีพี และยังมีหนี้นอกงบประมาณอีกที่อาจทำให้หนี้สาธารณะเกิน 50% เป็นสิ่งที่น่ากลัว พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะใช้ทำอะไร และความสามารถในการชำระหนี้อยู่ตรงไหน สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้เสียภาษี รัฐอัดฉีดเงินทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ตลาดหุ้นดีขึ้น ช่วง 1-2 ปี เศรษฐกิจยังสดใสในระยะสั้น แต่ในอีก 10 ปี 20 ปีข้างหน้าไทยจะแข่งขันอย่างไร ควรที่จะเริ่มคิด” นายทนงกล่าว

ด้าน นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นไทยน่าจะเป็นเฉพาะหุ้นบางตัวที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นเกินเหตุผล ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้นและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ดีขึ้นทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มสูงขึ้น  ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ราคาอพาร์ตเมนต์ และที่ดินมีการปรับสูงขึ้นบ้าง แต่ได้มีการใช้มาตรการทางการเงินสกัดไม่ให้เกิดการเก็งกำไร ดังนั้น โดยภาพรวมมองว่าขณะนี้ยังไม่เกิดภาวะฟองสบู่เป็นการทั่วไป แต่อาจเกิดขึ้นในบางส่วนเท่านั้น ขณะที่เงินเฟ้อยังไม่เห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้น ส่วนค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวไปตามภูมิภาค แม้จะมีการแข็งค่าขึ้น แต่มองว่า ยังไม่กระทบภาคการส่งออก ซึ่งการส่งออกของไทยยังคงแข่งขันได้
        

หุ้นไทยเจอแรงขาย พลิกปิดลบ 0.97 จุด

ตลาดหุ้นไทยวันนี้ (12 มี.ค.) ดัชนี ปิดที่ระดับ 1,576.68 จุด ลดลง 0.97 จุด หรือ 0.06% มูลค่าการซื้อขาย 86,278 ล้านบาท  ภาพรวมนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,315.85    ล้านบาท เช่นเดียวกับสถาบันที่ซื้อสุทธิ 570.36 ล้านบาท

นายวรุฒม์ ศิวะศริยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นปิดลบหลังปรับตัวขึ้นมาพอควร เหตุยังไม่มีปัจจัยใหม่เชิงบวกเข้ามาเพิ่มเติม มีเพียงปัจจัยลบเรื่องเดิม ยังคงอยู่ทั้งผลการเลือกตั้งอิตาลีที่ยังไม่ชัดเจน และการปรับลดงบประมาณของสหรัฐฯ ที่ยังค้างอยู่ อีกทั้งหุ้นที่ราคาปรับขึ้นมามากแล้ว และเป็นโอกาสขายออกมาเพื่อทำกำไรของนักลงทุน จึงมีแรงขายทำกำไรออกมามากกว่าแรงซื้อ โดยแนวโน้มวันนี้ (13 มี.ค.) ยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามา และน่าจะถึงเวลาที่ตลาดจะปรับฐานเพราะขึ้นมาเร็วมากในช่วงเวลาอันสั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น