xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น ศก.ไทยซ้ำรอยวิกฤตปี 40 “ดร.โกร่ง” ชี้ฟองสบู่ภาคการเงิน-อสังหาฯ “ส่งออกข้าว” อ่วมหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการห่วงบาทแข็งคล้ายวิกฤตปี 40 แต่ยังไม่ใช่ระยะนี้ ด้านผู้ส่งออกข้าวครวญเจอผลกระทบสองเด้ง จำเป็นจะต้องทบทวนแผนการค้าใหม่เพราะไม่สามารถแข่งขันได้ “ดร.โกร่ง” แนะภาคเกษตรเร่งปรับตัว ห่วงฟองสบู่ภาคการเงิน-อสังหาฯ จี้หาทางป้องกัน

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ กล่าวในงานซีพีเสวนา “บาทแข็ง : ผลกระทบ-ทางออก” โดยมองว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้มีความคล้ายคลึงกับปี 2540 ที่ตลาดหุ้นไทยมีความร้อนแรง ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขยายตัวดี ประกอบกับนักลงทุนมองเห็นโอกาสของไทยในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่มีการเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังประกอบกับผู้ส่งออกเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าสูงสุดในรอบ 28 เดือน ที่ 29.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่อง จนอาจจะกลับไปอยู่ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 แต่ก็ยังไม่ใช่ระยะใกล้นี้ ซึ่งผู้ส่งออกกำลังเผชิญผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท และค่าเงินบาทแข็งค่าต้องปรับตัว เน้นการขายในประเทศมากขึ้น

ขณะที่นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เครือเจริญโภคภัฑณ์ (ซีพี) ยอมรับว่า กลุ่มผู้ส่งออกข้าวกำลังถูกผลกระทบ 2 ด้าน ทั้งจากราคารับจำนำข้าวที่สูงขึ้น และค่าเงินบาทที่แข็งค่า กระทบขีดความสามารถในการแข่งขัน และหากค่าเงินแข็งค่ามากกว่า 29.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 27-28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดจำเป็นจะต้องทบทวนแผนการค้าใหม่ เพราะว่าราคาสินค้าเกษตรของไทยแข็งขันกับประเทศคู่แข่งไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าปริมาณการส่งออกข้าวในปีนี้จะดีกว่าปีก่อน และกลับขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดีย ซึ่งรัฐบาลควรปรับปรุงนโยบายการรับจำนำใน 3 ด้าน ทั้งการบริหารจัดการต้องอุดจุดรั่วไหล และควรมีระบบบริหารจัดการที่ดี ดูแลคุณภาพข้าวที่รับจำนำใหม่ด้วยการแบ่งชั้นของข้าวให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทย และต้องระบายข้าวในสต๊อกอย่างโปร่งใสด้วย

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย (กยอ.) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ การพัฒนาประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเปิดเชิงรุกบุกเออีซี โดยเชื่อว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการค้าและการลงทุน ซึ่งจีนและเอเชียจะเป็นประเทศสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก ขณะที่ไทยมีจุดยุทธศาสตร์ที่จะดึงหลายประเทศจะเข้ามาลงทุน ในแผนการลงุทนโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท

“ในฐานะประธานบอร์ดแบงก์ชาติรู้สึกหวั่นวิตก และมีสัญญาณค่อนข้างชัดเจน ว่าเศรษฐกิจไทยปลายปีนี้ จนถึงต้นปี 2557 อาจจะเกิดฟองสบู่แตกในภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีเงินทุนไหลเข้าจากการที่ตลาดหุ้นไทยมีการขึ้นลงอย่างรวดเร็วจาก 1,000 ต้นๆ มาอยู่ที่ 1,600 จุด และอาจขยับสูงไปกว่านี้ รวมถึงนักธุรกิจสนใจพันธบัตรรัฐบาล และมีการซื้อมากกว่าร้อยละ 15 และจะเพิ่มมากกว่านี้ สัญญาณเห็นได้ชัดคือ เงินบาทแข็งค่า”

ดังนั้น ในฐานะที่เป็นประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชื่อว่า ธปท.จะไม่กล้าประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดกระแสความร้อนแรงของเงินไหลเข้าแน่นอน แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องจับตาว่าจะหาทางอย่างไรที่จะป้องกันปัญหาฟองสบู่แตก เนื่องจากไทยเป็นประเทศเปิดตลาดภาคการเงินเสรี โดยไม่มีเครื่องมือป้องกัน ถือเป็นสิ่งอันตรายมาก

นอกจากนี้ยังเห็นว่า ภาคการเกษตรของไทยต้องปรับตัว และรัฐบาลจะต้องไม่ใช้นโยบายเงินอุดหนุนสินค้าภาคการเกษตร ที่ไม่สามารถจะแข่งขันได้ในอนาคต และควรนำเงินงบประมาณส่วนนี้ไปแก้ไขเรื่องน้ำจะดีกว่า อาทิ การปลูกข้าวนาปรัง เพราะมีต้นทุนปลูกสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม และพม่า และควรส่งเสริมข้าวหอมมะลิ ข้าวอินทรีย์ เพราะเป็นชนิดสำคัญที่จะสร้างรายได้และแข่งขันกับต่างประเทศได้
กำลังโหลดความคิดเห็น