xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการหวั่นค่าเงินแข็ง25-26บ./ดอลล์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นักวิชาการชี้โอกาสค่าเงินบาทแข็งแตะ 25-26 บาท/ดอลลาร์ใน 2ปี เผยสถานการณ์ค่าเงินบาทขณะนี้มีความคล้ายคลึงช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 เตือนแบงก์ชาติหาทางรับมือโดยเฉพาะหนี้ภาคครัวเรือนที่พุ่งขึ้น กับดักประชานิยม ฟองสบู่ในอสังหาฯและตลาดหุ้น

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ กล่าวในงานซีพีเสวนา "บาทแข็ง : ผลกระทบ-ทางออก" ว่า ขณะนี้สถานการณ์ค่าเงินบาทมีความคล้ายคลึงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ตลาดหุ้นไทยมีความร้อนแรง ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ใกล้ๆ 1,600 จุด มูลค่าตลาด( Market Cap.) เกิน100% ของ GDP อัตราการขยายตัว ทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ที่ 6.4% มีการไหลเข้าของเงินทุน
ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าสูงสุดในรอบ 28 เดือนที่ 29.51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และมองว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปอีก ซึ่งมีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่ากลับไปอยู่ที่ 25-26 บาท/ดอลลาร์เหมือนช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 ได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า

สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่า เกิดจากตัวแปรในประเทศคือ ผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนโยบาย QE ของหลายประเทศ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น และ ประเทศไทยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ดี อัตราเงินเฟ้อต่ำ การว่างงานต่ำ อีกทั้งประเทศไทยยังเกาะกระแส AEC ได้ดีกว่าที่อื่น ทำให้ประเทศไทยจะกลายเป็นประตูสู่อาเซียนของกลุ่มประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขง(CLMV)
ทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น แบงก์ชาติ ต้องนำบทเรียนในช่วงก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเป็นตัวตั้ง โดยเห็นว่าการลดดอกเบี้ยนโยบาย ( R/P ) ไม่น่าจะเป็นทางออก และไม่ได้ช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ ตรงกันข้ามการลดดอกเบี้ยจะเป็นการเร่งภาวะฟองสบู่ในเมืองไทยให้เกิดเร็วขึ้น อีกทั้งแบงก์ชาติ ไม่ควรฝืนกลไกลตลาด เพราะการเข้าแทรกแซงยิ่งขาดทุน และกระสุนแบงก์ชาติก็มีจำกัด

สิ่งที่แบงก์ชาติต้องดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตเหมือนปี 2540 คือ 1.หนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งปี 2555 หนี้ภาคครัวเรือนขยายตัวกว่า 20% 2. รัฐบาลต้องบริหารนโยบายประชานิยมให้ดี ระวังอย่าให้ติดกับดักประชานิยม โดยนโยบายใดที่ก่อให้เกิดภาระก็ควรทบทวนยกเลิกไป และ3.ระวังฟองสบู่ในตลาดหุ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการบริโภค

นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (สายธุรกิจข้าวและอาหาร) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด กล่าวว่า ในสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรกไทย รวมถึงผู้ส่งออกข้าวที่ได้รับผลกระทบ 2 ด้าน
ทั้งจากนโยบายรับจำนำข้าวที่ทำให้ราคาข้าวสูงกว่าราคาตลาดโลก และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ขายข้าวได้เงินบาทน้อยลง โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุก 1 บาท จะกระทบต่อมูลค่าการส่งออกข้าวลดลง 10%

ในปีนี้เชื่อว่าปริมาณการส่งออกข้าวของไทยจะดีกว่าปีก่อนอยู่ที่ 7-7.5 ล้านตัน กลับขึ้นมาอยู่อันดับ 2 รองจากอินเดีย ที่คาดว่าจะส่งออกข้าว 10 ล้านตันในปีนี้ โดยเดือนม.ค.นี้ ไทยมีการส่งออกข้าวถึง 5.7 แสนตัน เพิ่มขึ้น 23% เนื่องจากรัฐบาลระบายข้าวในสต็อกในราคาที่ต่ำ

โดยสิ่งที่อยากให้รัฐปรับปรุงนโยบายจำนำข้าว คือ ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี การอุดรูรั่วไหล พร้อมทั้งการสต็อกข้าวต้องมีการแบ่งเกรดคุณภาพข้าวให้ชัดเจน หลังจากขณะนี้เริ่มพบปัญหาประเทศผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิลดลงหันไปซื้อที่เวียดนามและกัมพูชาแทน โดยให้เหตุผลว่าคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยด้อยลง อีกทั้งการระบายข้าวต้องมีความโปร่งใสด้วย

อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินแข็งค่ามาอยู่ที่ 27-28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรคงต้องกลับมาทบทวนแผนการค้าใหม่ เพราะราคาสินค้าเกษตรของไทยแข่งขันกับประเทศคู่แข่งไม่ได้ เพราะปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่แข่งที่อ่อนค่าลง
กำลังโหลดความคิดเห็น