กนง. คงดอกเบี้ยร้อยละ 2.75 ตามคาด ห่วงฟองสบู่อสังหาฯ และหนี้ครัวเรือน โดยมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 1 เสียง ขณะที่แบงก์พาณิชย์คาดตรึง ดบ. นโยบายถึงสิ้นปี
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติ 5 ต่อ 1 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 โดยมี 1 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ส่วนกรรมการอีกหนึ่งท่านติดภารกิจที่ต่างประเทศ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า กนง. มีความเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังมีความเหมาะสม แต่ต้องระมัดระวังความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว รวมทั้งความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินคือ ปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดจากปัจจัยแวดล้อมทั้งการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ภาวะการเงินที่คล่องตัว อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และผลตอบแทนที่ต่ำจะเป็นตัวกระตุ้นทำให้การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เร่งตัวขึ้น โดยเห็นได้จากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นเร็ว ซึ่ง ธปท. ได้มีการติดตามสถานการณ์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ขณะที่สินเชื่อครัวเรือน และสินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัวในระดับสูง ทำให้เกิดความกังวลว่า ภาวะดอกเบี้ยต่ำ ภาคครัวเรือนจะมีการกู้ยืมเพิ่มมากขึ้นหรือไม่
ส่วนปัญหาเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้าย และการแข็งค่าของเงินบาท กนง. มีความกังวลและให้ความสำคัญ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งคณะกรรมการได้มีการประเมินผลกระทบความเสี่ยงของค่าเงินในระยะข้างหน้าไว้แล้ว และยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยังมีความเข้มแข็ง และปรับตัวได้
ส่วนแนวโน้มการส่งออกคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ตามภาวะเศรษฐกิจโลก และการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นปัจจัยหลักต่อการขยายตัวของส่งออก ขณะที่ผลกระทบของค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกชะลอตัว เพราะเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นมาโดยตลอด แต่การส่งออกยังขยายตัวได้ต่อเนื่องแสดงให้เห็นว่า ผู้ส่งออกมีการปรับตัว และมีศักยภาพที่ดีขึ้น
นายไพบูลย์ ยังบอกด้วยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 จะขยายตัวลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่เร่งมากขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ โดยอุปสงค์ในประเทศ และการลงทุนภาครัฐจากโครงการจัดการน้ำ และโครงสร้างพื้นฐานที่จะเริ่มลงทุนในช่วงปลายปีนี้เป็นตัวขับเคลื่อน ดังนั้น ในวันที่ 12 เม.ย.นี้ จะมีการแถลงปรับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากที่เคยคาดการณ์ว่าอยู่ที่ร้อยละ 4.9
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติ 5 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 เพราะ กนง. มองว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีจากอุปสงค์ในประเทศ โดยประเมินว่าการใช้จ่ายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากภาวะการเงิน และสินเชื่อที่ผ่อนคลาย ขณะเดียวกัน กนง. คาดว่าการใช้จ่ายภาครัฐทั้งการบริหารจัดการน้ำ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่น่าจะเริ่มได้ในช่วงกลางปีถึงปลายปี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชนได้
ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังเป็นความเสี่ยง ทำให้นโยบายการเงินยังต้องผ่อนปรน เศรษฐกิจยุโรปที่ยังถดถอย และยังมีความเสี่ยงในภาคการเงินจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของภาคการส่งออกของไทยในปีนี้ และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูง โดย กนง. มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 นั้นผ่อนปรนเพียงพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ภายใต้ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน และเงินทุนเคลื่อนย้าย
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 จนถึงสิ้นปี จากเศรษฐกิจในประเทศยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปีนี้ ประกอบกับสินเชื่อทั้งภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจยังขยายตัวสูง ทำให้โอกาสที่ กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีน้อย ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างสูงยังส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานล่าสุดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ รวมไปถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เดิมจากปัจจัยด้านเงินทุนไหลเข้า ทำให้อัตราดอกเบี้ยยังไม่น่าจะมีการปรับขึ้นในปีนี้
ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า เศรษฐกิจไทยที่ยังมีความอ่อนไหวต่อจุดพลิกผันของหลายปัจจัยเสี่ยงทั้งใน และต่างประเทศ รวมถึงความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ก็ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า นอกจาก กนง. จะยังคงส่งสัญญาณเฝ้าระวังประเด็นด้านเสถียรภาพ การขยายตัวของสินเชื่อ และความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในบางพื้นที่ในช่วงหลายเดือนข้างหน้าแล้ว ธปท.น่าจะให้น้ำหนักความสำคัญมากขึ้นในการติดตามประเมินพัฒนาการของ 3 ตัวแปรหลัก ซึ่งได้แก่ ทิศทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ รวมถึงความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ในการกำหนดจุดยืนที่เหมาะสมของนโยบายการเงินไปด้วยพร้อมๆ กัน
ทั้งนี้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงร้อยละ 5 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3 โดยการเคลื่อนไหวของเงินบาทไม่แกว่งตัวรุนแรงนัก ก็มีความเป็นไปได้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจทรงตัวที่ร้อยละ 2.75 ไปตลอดช่วงที่เหลือของปี 2556